จับสัญญาณ ‘เจ๊หน่อย’ ปูดแก้ รธน.โละปาร์ตี้ลิสต์ ‘เพื่อไทย’ โต้เดือด ‘เต้าข่าว’

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เมื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ออกมาเปิดประเด็นผ่านรายการออนไลน์ช่องหนึ่ง มีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า “ได้ข่าวจากคนในพรรคเพื่อไทย บอกว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จะแก้รัฐธรรมนูญให้ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ หรือแบบปาร์ตี้ลิสต์

โดยคุณหญิงสุดารัตน์ระบุด้วยว่า “เป็นคำบอกเล่า จริงหรือไม่จริง ไม่รู้ เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการชนะพรรคก้าวไกล คือรวบรวมบ้านใหญ่และไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ”

ยิ่งไปกว่านั้น พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ยังตอกย้ำด้วยการเผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กอีกด้วยว่า “โละ หรือลด Party List” จะจริงเท็จ เลอะเทอะหรือไม่ คุณเศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทย ต้องเป็นผู้ยืนยัน “เป็นสัญญาประชาคม” ต่อประชาชน ว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญเพื่อความได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางการเมืองของนักการเมืองเท่านั้น และต้องให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ภายในเวลารวดเร็ว โดยไม่ใช้เทคนิคการถ่วงเวลา

พร้อมกับยกเหตุผลประกอบด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากบัตรใบเดียว เป็นบัตรสองใบ และมีการลดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จาก 150 คน ให้เหลือ 100 คน เพื่อเพิ่ม ส.ส.เขตจาก 350 เป็น 400 คน

 

แน่นอนว่า การออกมาเปิดประเด็นของคุณหญิงสุดารัตน์ ทำให้แกนนำ ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายต่อหลายคน แสดงท่าทีไม่พอใจ พร้อมใจเรียงหน้ากันออกมาปฏิเสธว่าสิ่งที่คุณหญิงสุดารัตน์อ้างว่ามีความพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญให้ ส.ส.มีที่มาจากระบบเขตทั้งหมด 500 ที่นั่ง ตัดระบบบัญชีรายชื่อออกไป เพื่อสกัดพรรคก้าวไกลเป็นการจินตนาการแบบไม่มีมูลความจริงเลย เป็นการมโนไปเอง และดิสเครดิตพรรคเพื่อไทยให้เกิดความเสียหาย

โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐมนตรีไม่เคยพูดเรื่องนี้เลย และไม่ได้อยู่ในวาระของการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย การจะแก้เรื่องใหญ่ขนาดนี้ต้องผ่านรัฐสภาอยู่แล้ว ในฐานะที่อยู่ในพรรค พท.ด้วย และทำงานในฝ่ายบริหาร ถ้าเกิดจะทำเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ต้องพูดคุยกันในพรรคของเราเอง ตอนนี้เรามุ่งแก้ปัญหาพี่น้องประชาชนดีกว่า

นายเศรษฐาระบุอีกว่า ไม่มีความตั้งใจตรงนั้น อย่าไปสร้างประเด็นทางการเมืองมาเลยดีกว่า ส่วนกรณีที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ออกมาบอกว่าถ้าไม่ใช่เรื่องจริง อยากให้ทำสัญญาประชาคมว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว นายกฯ ได้แต่หัวเราะ พร้อมกล่าวว่า

“พูดไปแล้ว บอกไปแล้ว บอกว่าไม่ได้ทำและไม่มีความตั้งใจตรงนี้”

 

ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การทำประชามติครั้งนี้เพื่อหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อจำกัด หากแก้ไขต้องแก้ไขให้ได้ร้อยละ 20 ของฝ่ายค้าน และร้อยละ 20 ของวุฒิสภา จะมาบอกว่าจะแก้เพื่อทำร้ายพรรคก้าวไกลนั้น แล้วคะแนนร้อยละ 20 ของพรรคก้าวไกลมาจากไหน รัฐธรรมนูญตกแน่นอน หมายความว่าไม่มีมูลความจริง

“การที่คุณหญิงสุดารัตน์ได้ฟังมาจากพวกจริงๆ หรือฝันไป ผมสงสัย ขอสื่ออย่าไปทำข่าวที่ไม่มีพื้นฐานของความจริง ข่าวเต้า หรือเต้าข่าว อย่าไปทำเลย ทำงานสร้างพรรคให้แข็งแรงและเป็นกำลังสร้างประชาธิปไตยให้ได้ หากทำแบบนี้จะเป็นปัญหากับตัวเอง “นายภูมิธรรมระบุ

ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค พท. มองว่า เมื่อเราต้องการจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ต้องให้ ส.ส.ร.เป็นคนวางระบบว่าระบบเลือกตั้งควรจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่พรรคการเมือง หรือใครจะเป็น คนไปคิดว่าต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้กันเอง ไม่เช่นนั้นจะมี ส.ส.ร.ไปทำไม เรื่องที่คุณหญิงสุดารัตน์พูดจึงไม่มีมูลความจริงอะไรทั้งสิ้น

 

ฟากพรรคร่วมรัฐบาล ต่างก็ออกมาแสดงท่าทีและจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการโละ ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ โดยมองว่าการมี ส.ส.ทั้ง 2 ระบบเป็นสิ่งที่ดีที่สุด อีกทั้งเป็นระบบที่อยู่กับการเมืองไทยมายาวนาน เป็นพัฒนาการทางการเมือง ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในภาพรวมเชิงนโยบาย

แต่ทว่า เรื่องนี้ นายปริเยศ อังกูรกิตติ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ตั้งข้อสังเกตว่า เริ่มเห็นเค้าลางว่าอาจมีมูลความจริง เพราะหลังจากมีข่าวนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า มีการตอบโต้มาจากพรรคเพื่อไทย (พท.) อย่างเข้มข้นตั้งแต่หัวแถวคือนายกรัฐมนตรี ลงมาถึงระดับปลายแถว

“หากมั่นใจว่าไม่มีมูล ไม่มีการวางแผนเรื่องนี้จริง ต้องกล้ารับคำท้าคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย และประกาศเป็นสัญญาประชาคมออกมาเลยว่าจะไม่โละหรือลด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อย่าโยนว่าเป็นขบวนการของ ส.ส.ร. เพราะถึงวันนี้เพื่อไทยยังไม่มีความชัดเจน หรือตกผลึกว่า ส.ส.ร.จะให้ประชาชนเลือกทั้งหมด หรือจะมีการแต่งตั้งบางส่วน ซึ่งทางพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีความชัดเจนว่าต้องการให้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด” โฆษกพรรค ทสท.ระบุ

 

ทั้งนี้ หากเอ่ยถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ต้องยอมรับว่ากระบวนการยังอีกยาวไกล เนื่องจากการทำประชามติ ซึ่งเปรียบเสมือนด่านแรกยังไม่เริ่มต้นขึ้นเลย

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไป ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยกำหนดให้มี ส.ส. 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เริ่มต้นใช้ในการเลือกตั้งปี 2544

จวบจนถึงปัจจุบันการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2566 เป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้วที่ประเทศไทยมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อยู่ในระบบการเลือกตั้งของไทย

ฉะนั้น หากจะมีการรื้อระบบการเลือกตั้ง เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ โละ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ทิ้งไป ไม่ใช่เรื่องง่าย แน่นอนว่า แม้ว่าจะมีบางฝ่ายมองข้ามช็อตไปแล้วว่า หากมีการปรับเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง มาเป็น ส.ส.เขต 500 คน พรรคการเมืองใดที่มีบ้านใหญ่ หรือมีฐานคะแนนเสียงจะได้เปรียบขึ้นมาทันที แต่ในการเลือกตั้งจริงยังมีหลายปัจจัยที่จะชี้ขาดผลการเลือกตั้ง ทั้งกระแสพรรค ทรัพยากรทางการเมือง นโยบาย

แต่ทว่า การออกแบบกติกาเลือกตั้งให้เป็นแบบใดนั้น ท้ายที่สุดต้องขึ้นอยู่กับสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่จะเกิดขึ้น ภายหลังจากการทำประชามติเพื่อให้เกิดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่