‘ความร้ายกาจ’ ของคนเขียนกติกา ‘เลือก ส.ว.’

Heavenly Scene with the Gods of Olympus Surrounding a Chess Board, Poseidon and Pan Below // Artist: John Carwitham (British, active ca. 1723–60)

ถ้าบอกว่า ผู้เขียนกติกาหรือออกแบบ “การเลือก ส.ว.” ครั้งนี้ มี “ความร้ายกาจ” หรือ “ความเขี้ยวลากดิน” ทางการเมือง

คงไม่มีใครกล้าโต้แย้ง-ปฏิเสธ

แต่คำถามต่อเนื่องก็คือ ที่บอกว่า “ร้ายกาจหรือเขี้ยวลากดิน” นั้น “ร้ายกาจ/เขี้ยวลากดิน” ในแง่มุมไหนบ้าง?

 

แง่มุมแรกสุด ผู้เขียนกติกาคราวนี้มีความ “ร้ายกาจ/เขี้ยวลากดิน” ในการทำเรื่องที่ควรจะเรียบง่าย (เช่น ออกแบบให้ประชาชนได้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ส.ว.แบบตรงไปตรงมาเลย เหมือนในรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้น) ให้กลายเป็นกระบวนการอันยุ่งยากวุ่นวายน่าปวดหัวอย่างน่าเหลือเชื่อ

แง่มุมนี้ ใครที่ติดตามข่าวการเลือก ส.ว. 2567 มากบ้างน้อยบ้าง ย่อมมองเห็นประจักษ์ชัดเจนตรงกัน

แง่มุมถัดมา ถ้าตีความว่า “ส.ว.แบบนี้” คือ มรดกหรือปราการด่านท้ายๆ ที่รัฐประหาร คสช.หลงเหลือทิ้งไว้ในสังคมไทย โดยมีพันธกิจสำคัญ ได้แก่ การต้องถ่วงรั้งประเทศให้เกิดความเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด

การออกแบบวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้มี “ความมั่วอย่างมีแบบแผน” คือ เอื้อให้คนที่มีพวกพ้อง กลุ่มก้อน เครือข่ายขนาดใหญ่ กลายมาเป็นฝ่ายได้เปรียบในเกมอลวนนี้ ก็ดูจะสนองตอบต่อพันธกิจสำคัญเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี

เพราะแม้พวกพ้อง กลุ่มก้อน เครือข่ายต่างๆ ในสนามเลือก ส.ว.หนนี้ อาจมีอยู่หลากหลาย แต่ท้ายสุด กลุ่มก้อนที่จะสามารถ “ทำงานร่วมกัน” ได้เป็นเครือข่ายใหญ่สุด ณ ปัจจุบัน ก็หนีไม่พ้นกลุ่มก้อนเครือข่ายที่มีความใกล้ชิดและเป็นกลไกของ “โครงสร้างอำนาจรัฐไทย” อันมั่นคงเป็นปึกแผ่นนั่นเอง

“ความมั่วอย่างมีแบบแผน” ในกระบวนการเลือก ส.ว. จึงมีเป้าหมายเบื้องท้ายอยู่ที่การได้สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งจะขัดขวางพัฒนาการของสังคมการเมืองและความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยไทยอย่างถึงที่สุด

แง่มุมสุดท้าย เพิ่งปรากฏชัดในวันเลือก ส.ว.ระดับประเทศ 26 มิถุนายน 2567 ซึ่งหลายเครือข่ายกลุ่มก้อนที่ลงสนามแข่ง โดยเฉพาะเครือข่าย “ภาคประชาชน/ฝ่ายประชาธิปไตย” บ่นออกมาดังๆ เรื่อง “การถูกหักหลัง”

นี่แหละคือ “ความร้ายกาจ/เขี้ยวลากดิน” ในการออกแบบการเลือก ส.ว. ที่ค่อยๆ บีบให้มนุษย์ผู้เดินหน้าเข้าสู่เกมการเมืองเกมหนึ่ง (ด้วยเจตจำนงที่อาจจะดีงามก็ได้ ณ จุดเริ่มต้น) ค่อยๆ มีกิเลส ค่อยๆ หลงใหลในการได้มาซึ่งอำนาจ ค่อยๆ นึกถึงผลประโยชน์ หน้าตา สถานภาพของตนเอง มากกว่าอุดมการณ์หรือปณิธานร่วม

นี่เป็นความมืดหม่นที่เกิดขึ้นในโลกความจริง ไม่ใช่เรื่องราวในหนัง-ซีรีส์อย่าง “The Lord of the Rings” หรือ “Game of Thrones”

Heavenly Scene with the Gods of Olympus Surrounding a Chess Board, Poseidon and Pan Below // Artist: John Carwitham (British, active ca. 1723–60)

เมื่อพยายามทำความเข้าใจ “ความร้ายกาจ/เขี้ยวลากดิน” ของผู้ออกแบบกติกาการเลือก ส.ว. 2567 ภาพหนึ่งที่ค่อยๆ ปรากฏขึ้นมาในความนึกคิด ก็คือ ภาพในหนังแนว “เทพนิยายกรีก” ยุคโน้น

เป็นฉากมหาเทพ “ซุส” กับ “เฮรา” เล่นหมากรุกกันอยู่บนสรวงสวรรค์ ซึ่งการเดินหมากของ “คนข้างบน” ก็กลายเป็นการกำหนดควบคุมชะตากรรมของเหล่ามนุษย์ตัวเล็กตัวน้อยตรง “เบื้องล่าง” ไปพร้อมๆ กัน โดยปริยาย

พูดอีกอย่างได้ว่า นี่คือการเล่นสนุกกับชีวิตและความปรารถนาของ “มนุษย์การเมือง” ข้างล่าง โดย “ผู้มีอำนาจตัวจริง” ที่คอยเดินเกมอยู่ข้างบน

ผู้เขียนกฎกติกาและออกแบบการเลือก ส.ว. ก็มีบทบาทไม่ต่างจาก “ซุส” กับ “เฮรา”

ปัญหาท้าทายก็คือคนออกแบบและกำหนดเกม “ส.ว. 2567” จะสามารถควบคุม-กดปุ่ม “มนุษย์ 200 คน” ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแค่ไหน?

เพราะในอีกด้านหนึ่ง “ความมั่วซั่ว-สับสน” ที่มีอยู่จริงเช่นกัน ก็เปิดช่องว่างให้ “คนที่อาจอยู่นอกเหนือจากการควบคุม” หลุดรอดสอดแทรกเข้ามาสู่วุฒิสภาชุดใหม่ได้บ้าง แม้จะไม่เยอะก็ตามที •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน