ส.ว. White Collar Crime อยากทราบว่า จะมากันสักกี่คนคะ ได้กะถูกค่ะ

ฟังสัมภาษณ์เลขาฯ กกต.ไม่กี่วันก่อนการเลือก ส.ว.ระดับประเทศแล้วหลายคนรู้สึกเศร้า …

เศร้า…ที่ผู้มีอำนาจสูงสุดในการควบคุมและดำเนินการจัดการเลือกยอมรับในทำนอง การเลือก ส.ว.รอบนี้ เต็มไปด้วยการฮั้วกัน เต็มไปด้วยการกระทำผิด

เลขาฯ กกต.ใช้คำศัพท์แบบวิชาอาชญาวิทยาเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า กระบวนการกระทำผิดในการเลือก ส.ว.ชุดใหม่นี้ ถือว่าเป็น White collar crime หรืออาชญากรรมคอปกขาว

ความหมายก็คือเป็นกลุ่มผู้กระทำความผิดที่ไม่สามารถเอาผิดได้ง่ายๆ

เลขาฯ กกต.ใช้คำว่า “การที่คนมีความรู้ทำความผิด เขามีทั้งอำนาจ ทุน ทักษะ และความรู้ ยิ่งเรื่องการเมืองก็มีทั้งเครือข่าย และผู้สนับสนุน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปกับการเมืองทุกประเทศ”

ถอดรหัสจากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหาร กกต. นำไปสู่ข้อสรุปได้ว่า “มีโกงกันจริง” แต่คงจับยาก เพราะเขาก่ออาชญากรรมกันแบบเนียนๆ

 

ท่ามกลางข่าวการบล็อกโหวตอย่างหนัก การเสนอเงินหลักแสน หลักล้านในการโหวต ที่สังคมหวังว่าจากนี้จะมีข่าวเอาผิดกระบวนการใช้ผลประโยชน์ เข้าไปแทรกแซงการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ จากนี้คงจะริบหรี่…

คนเขียนกติกากลัวการใช้เงินซื้อเสียงเลือกตั้งของประชาชน จึงออกแบบกลไกอันสลับซับซ้อน ผ่านการแบ่งกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม หวังให้การซื้อเสียง จัดตั้งเป็นไปได้ยาก แต่สุดท้ายดังที่เลขาฯ กกต.ก็ยอมรับว่า “หนีไม่พ้น”

ถึงกับใช้คำว่า เอาผิดยาก พวกอาชญากรรมคอปกขาว

ยิ่ง 1-2 สัปดาห์ก่อนวันเลือกจริง มีแต่ข่าวการฮั้ว การจัดตั้ง การติดต่อไปเสนอประโยชน์หลักแสนไปจนกระทั่งหลักล้าน การเตรียมโพยลำดับการเลือกไม่จะเป็นรอบเลือกกันเอง หรือรอบเลือกไขว้

แม้แต่ฝ่ายที่ไม่ได้สังกัดบ้านใหญ่ก็ยังมีข่าวแชตหลุด การทรยศหักหลังกันจ้าละหวั่น ผลจากกติกาอันลึกลับซับซ้อน

ดังที่จีรนุช เปรมชัยพร อดีตผู้บริหารประชาไท และเป็นหนึ่งในผู้สมัคร ส.ว.ที่ตกรอบ โพสต์ข้อความให้เห็นปัญหาเรื่องนี้ว่า

“กติกานี้มันโหดร้ายมากบังคับให้ต้องจับมือแต่สุดท้ายคนหักหลังชนะ ต่อให้ชนะเราก็จำได้ว่าชัยชนะของคุณมาจากการตระบัดสัตย์”

สรุปเบื้องต้นได้ว่าความหวังของคนเขียนกติกา “ล้มเหลว”

 

สําหรับผู้ผ่านเข้ารอบกระทั่งกลายเป็นผู้ชนะเป็น ส.ว.ชุดใหม่ แบ่งทางความคิดได้กลุ่มใหญ่ๆ เป็น 3 กลุ่ม

1. กลุ่มขั้วบ้านใหญ่ มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มพรรคการเมือง จำนวนไม่น้อยแสดงออกอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อดูรายชื่อและผลคะแนนในการเลือกรอบเช้าของวันที่ 26 มิถุนายน จะเห็นชัดจากคะแนนที่ได้ลำดับต้น มีประวัติเคยทำงานในพื้นที่บ้านใหญ่ รวมถึงเคยรับตำแหน่งทางการเมืองในอดีตกับบ้านใหญ่ที่มีอำนาจรัฐมาก่อน

แนวคิดหลักของกลุ่มนี้ อิงกับแนวทางทางการเมืองของ “บ้านใหญ่ที่สังกัด” ซึ่งส่วนใหญ่โน้มไปทางอนุรักษนิยม

แต่แน่นอนว่า ส.ว.เครือข่ายบ้านใหญ่ก็มีความหลากหลาย

2. กลุ่มขั้วอำนาจเก่า-อนุรักษนิยม มีความเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจในรัฐบาลเดิม กลุ่มนี้ส่วนใหญ่มาจากสายราชการ ทหาร ตำรวจ และกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เคยสนับสนุนรัฐบาลในอดีต

แนวคิดหลักของกลุ่มนี้คือการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่จะกระทำต่อรัฐธรรมนูญ 2560 รักษาสถานะการเมืองเดิมที่เป็นอยู่

3. คือขั้วเสรีนิยม-ประชาธิปไตย ส่วนใหญ่มาจากภาคประชาชน-ประชาสังคม มีความเห็นหลากหลาย

จุดยึดของกลุ่มนี้อยู่ที่การลงมาเล่นเกมภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยมีเป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง แก้ไขไปจนกระทั่งยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ใหม่

 

ไปดูผลการเลือก ส.ว. พบว่าจำนวนมากที่ผ่านเข้าไปได้ หากเจาะเข้าไปในรอบการเลือกระดับกลุ่ม สร้าง “ความมึนงงสงสัย” เป็นอย่างมาก

บางกลุ่มคนที่ได้คะแนนสูงผ่านเข้าสู่รอบไขว้ ระดับ 20-40 คะแนน เกือบ 20 คน แทบไม่กรอกประวัติอะไรเลย ส่วนคนที่เคยเป็นข่าว หรือมีชื่อเสียงในแวดวงสังคม ตกรอบ กระเด็นกระดอนเป็นแถบๆ

มองแบบไม่คิดมาก คือการอ่านประวัติผลงาน การดูที่คุณวุฒิอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการเลือกผู้สมัคร ซึ่งก็ขัดกับความต้องการของคนเขียนกติกา

ผู้สมัครที่เคยได้รับการจัดอันดับว่าเป็น “ดาวเด่นในสายอาชีพ” มีประวัติเคลื่อนไหวทางการเมือง-สังคม ตกรอบไปจำนวนไม่น้อย

“คนดัง” ที่ก่อนหน้านี้ ประกาศว่าต้องการเข้าไปเล่นการเกมเพื่อเปลี่ยนกติกาประเทศ ไม่สามารถฝ่าเข้าไปรอบสุดท้ายได้ เป็น “จำนวนมาก”

ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า “กลุ่มคนดัง” เหมาะสมที่จะเป็น ส.ว.มากกว่า “ตาสีตาสา”

แต่ในสายตาคนอ่านข่าว คงปฏิเสธที่จะอดคิดถึงเชื่อมโยงกับภาพรวมปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมามิได้

ในอีกนัยยะหนึ่งคือ การลงแบบ “อิสระ” ยังไงก็แพ้แบบ “จัดตั้ง”

การเมืองภาคประชาชน ยังแพ้เครือข่ายอุปถัมภ์ท้องถิ่นแบบไทยๆ

ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ผู้เขียนกฎหมายซ้ำไปอีก

 

หากเอา “โจทย์” การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นที่ตั้งที่การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ ต้องใช้เสียง 1 ใน 3 ต้องบอกว่า ฟากประชาชน “ยังไปไม่ถึง”

ทำได้แค่พอจะแทรกเข้าไปได้ เพียงเท่านั้น

ถามว่าแล้วจะยังมีความหวังกับ 200 ส.ว.ชุดใหม่ได้ไหม

ตอบง่ายที่สุด อย่างน้อยก็ดีกว่า 250 ส.ว.ที่มาจากการลากตั้งชุดก่อน

การที่ ส.ว.ส่วนใหญ่มาจาก “พื้นที่” หรือจาก “เครือข่ายบ้านใหญ่” อย่างน้อยก็มีความยึดโยงกับประชาชน กับผลประโยชน์ในพื้นที่มากกว่า ส.ว.ที่มาจากการลากตั้งของ คสช.

นั่นหมายความว่าแม้เบื้องหลังจริงๆ ของ ส.ว.จะเป็นบ้านใหญ่ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ แต่อย่างน้อย บ้านใหญ่ในพื้นที่นั้นๆ ก็ยังยึดโยงกับประชาชนอยู่บ้าง

อนาคตหากมีการเคลื่อนไหว ผลักดันประเด็นใดๆ การกดดันทางการเมืองของภาคประชาชน อย่างน้อยก็น่าจะส่งผลมากกว่า 250 ส.ว.ชุดลากตั้ง

นั่นแหละ หวังได้เท่านั้น-แค่นั้นจริงๆ

 

ก่อนหน้านี้มีการเสนอความเห็นว่า หากผลการเลือกออกมาแล้วฝ่ายประชาชนสามารถเข้าไปนั่งเก้าอี้สภาบน มีคะแนนเสียงเยอะจนมีนัยยะสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง

200 ส.ว.ชุดนี้คงไม่สามารถทำคลอดออกมาได้ จะมีการใช้กระบวนการนิติสงครามจัดการคุมกำเนิด

แต่เมื่อผลการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ออกมาเช่นนี้ ฝ่ายบ้านใหญ่-อำนาจเก่า มีอำนาจนำ โดยมีฝ่ายประชาชนสอดแทรกเข้าไปได้บ้าง จึงทำนายได้ว่า การประกาศรับรอง ส.ว.ชุดใหม่คงเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

ต้องยอมรับว่าคนเขียนกติกา-ออกแบบกลไกการเลือก ส.ว.ชุดนี้ทำสำเร็จ

1. รักษาอำนาจนำของฝ่ายอำนาจเก่าได้ โดยมีกลุ่มบ้านใหญ่เข้ามาแชร์อำนาจต่อ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่หลักๆ คือยังรักษาสถานะเดิม-มรดกหลักๆ ของรัฐบาล คสช.ไว้

2. บีบให้ฝ่ายประชาชนผู้ต้องการล้างมรดก คสช.-ฝ่ายผู้นิยมประชาธิปไตย เข้ามาเล่นในเกมที่ตัวเองเป็นคนกำหนด และจากที่เป็นข่าว ผลจากการเลือก ส.ว.รอบนี้ดูจะยิ่ง “สร้างรอยร้าว” ให้กับคนกลุ่มนี้

3. ทำให้ประชาชนเบื่อการเมือง มอง “ประชาธิปไตย” เป็นความวุ่นวาย โดยใช้ “กลไกการเลือกตั้ง” ที่สลับซับซ้อน ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนทำกัน เป็นเครื่องมือ

บางที “อาชญากรรมคอปกขาว” ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่ถูกสร้างขึ้นมาจากโครงสร้าง-กติกาอันผิดปกติ

ท้ายที่สุด ความฝัน เป้าใหญ่ของฝ่ายประชาธิปไตย ที่จะฉีกพินัยกรรม คสช. ก็ยังคง “มืดมน”ไร้อนาคต ไร้ศรัทธากันต่อไป

แค่มืดน้อยลง “นิดนึง”