ปุจฉาพาเสียว : เซ็กซ์และการดันเพดานในสังคม

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/

 

ปุจฉาพาเสียว

: เซ็กซ์และการดันเพดานในสังคม

 

“ปุจฉาพาเสียว” หรือ “ดร.ไคลแมกซ์” เป็นภาพยนตร์ขนาดยาว 6 ตอนจบที่พูดถึงคอลัมน์ตอบปัญหาเพศในหนังสือพิมพ์ยุคทศวรรษ 2520-2530 และถึงแม้ “หน้าหนัง” จะใช้เรื่องเซ็กซ์เพื่อดึงความสนใจคนดู แต่เซ็กซ์เป็นแค่คำเชิญชวน (Invitation Message) เพื่อคุยเรื่องอื่นมากกว่าการเสพกาม

แกนเรื่องของ “ปุจฉาพาเสียว” วนเวียนอยู่กับตัวละครหลัก 3 คนซึ่งมีความสัมพันธ์แบบ 2 หญิง 1 ชาย พูดง่ายๆ คือหนังเรื่องนี้พระเอกมีเมียแล้ว แต่ไปทำงานใหม่แล้วมีกิ๊กจนถูกทั้งเมียและกิ๊กจับได้ จากนั้นตัวเรื่องก็อีนุงตุงนังอยู่กับความขัดแย้งของสามคนนี้ว่าจะทำอย่างไรกับความสัมพันธ์นี้ดี

โครงเรื่องนี้พบได้ในละครหลังข่าวจนเหมือนไม่มีอะไรน่าสนใจ

แต่ความน่าทึ่งคือ “ปุจฉาพาเสียว” มีไคลแมกซ์ตั้งแต่ต้นจนรีโมตเป็นสิ่งปฏิกูลที่ไม่จำเป็นไปในที่สุด เพราะตัวละครทั้งหมดอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงจนเกิดการปะทะระหว่างความคิดเก่าและความคิดใหม่ตลอดเวลา

หนังไม่ใช่ภาพสะท้อนสังคม แต่ “ปุจฉาพาเสียว” เอาสังคมไทยยุค 2520-2530 มาเล่าใหม่, ตีความใหม่, และตั้งคำถามใหม่ผ่านเรื่องแนวละครหลังข่าวที่ประกอบสร้างในรูปแบบฉูดฉาดกว่าไฟดิสโก้เธค

ผลลัพธ์จึงเป็นการปอกเปลือยความย้อนแย้งและสับสนของสังคมที่สนุกจนหยุดไม่ได้เลย

 

ประเทศไทยในทศวรรษ 2520-2530 คือยุคสมัยที่หนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลในสังคมไทย ถึงอุตสาหกรรมทีวีจะแข็งแกร่งจนไม่ได้ดิ่งเหวเป็นขาลงอย่างปัจจุบัน แต่หนังสือพิมพ์คือสื่อที่ทรงพลังที่สุดในการกำหนด “วาระ” ของข่าวในสังคมตั้งแต่เรื่องการเมือง, เศรษฐกิจ ไปยันเรื่องบันเทิง

ขณะที่จุดแข็งของข่าวทีวีคือการเล่าเรื่องด้วยภาพและเสียงที่รวดเร็ว หนังสือพิมพ์คือสื่อที่เล่าเรื่องหลังจากเหตุการณ์จริงผ่านไปไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง

พลังของสื่อสิ่งพิมพ์จึงอยู่ที่การพาดหัว, การเลือกภาพ, การเลือกเรื่อง และการสร้างเนื้อหาที่มากกว่าข่าวอย่างคอลัมน์, ใบ้หวย, ดูดวง หรือนิยาย

“ปุจฉาพาเสียว” เกิดในยุคที่เพศเป็นเรื่องห้ามพูดในสังคม และถึงแม้วรรณคดีไทยหรือจิตรกรรมฝาผนังจะมีฉากร่วมเพศพิสดารประเภทผสมพันธุ์ข้ามเผ่าพันธุ์เยอะไปหมด สังคมไทยสมัยใหม่กลับไม่ยอมให้พูดเรื่องนี้ใน “พื้นที่สาธารณะ” จนเพศเป็นเรื่องลี้ลับใครก็อยากรู้อยากเห็นตลอดเวลา

ในภาพยนตร์ชุดนี้ คนทำหนังสือพิมพ์ต้องหารายได้เพิ่มด้วยการพูดเรื่องเพศ

สื่อค่ายหนึ่งเลือกสร้างคอลัมน์ตอบปัญหาเพศที่เขียนด้วยภาษากึ่งเสียวจนสร้างผู้อ่านมหาศาล

ผลก็คือคอลัมน์นี้ปะทะกับค่านิยมเก่าๆ ในสังคมที่ห้ามพูดเรื่องเพศ และในที่สุดก็ปะทะกับกลุ่มอนุรักษนิยมในสังคมโดยตรง

เฉพาะในส่วนนี้ “ปุจฉาพาเสียว” ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงในสังคมที่ไม่มีใครพูดตรงๆ เยอะไปหมด เช่น เรื่องเพศเป็นสินค้าที่ขายได้ คนพร้อมจ่ายเพื่ออ่านเรื่องเพศ ยิ่งเขียนให้เสียวแบบวิชาการยิ่งมีโอกาสเข้าถึงผู้อ่านขึ้น และทุกครั้งที่พูดเรื่อง “ต้องห้าม” ย่อมเผชิญหน้ากับคนหัวเก่าที่มีอำนาจและไม่มี

 

คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกลมักอภิปรายในสภาถึงปัญหาคดี 112 เพื่อพูดถึง “ข้อเท็จจริงอันน่ากระอักกระอ่วนในสังคม” และหากยืมคำพูดของคุณพิธาไปอธิบาย “ปุจฉาพาเสียว” ก็พูดได้ว่าภาพยนตร์นี้พูดถึง “ข้อเท็จจริงอันน่ากระอักกระอ่วน” ที่สังคมกดทับเรื่องเพศราวกับเพศเป็นสิ่งที่ไม่มีในสังคม

ควรระบุด้วยว่าการพูดเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องอนาจาร และขณะตัวละครหลักคือ “ดร.ไคลแมกซ์” สร้างคอลัมน์ตอบปัญหาเพศขั้นพิมพ์ภาพอวัยวะเพศหญิงพร้อมคำบรรยายตำแหน่งต่างๆ แง่การแพทย์ หนังสือพิมพ์คู่แข่งก็ขึ้นหน้าหนึ่งภาพเรตอาร์ของดาวยั่วพร้อมพาดหัวเน้นความ “อ้าซ่า” แข่งทันที

คนที่ทันยุคทศวรรษ 2530 คงจำได้ว่าหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของไทย 2 ค่ายเคยแข่งกันทุกวันอาทิตย์เรื่องขึ้นหน้าหนึ่งด้วยภาพดาราหนังโป๊ในชุดว่ายน้ำ จากนั้นก็แข่งกันต่อว่าใครได้ดาราระดับนางเอกหรือดาราวัยรุ่นโชว์หน้าอกจนถึงหนังสือพิมพ์แทบเป็นหนังสือโป๊ที่มีทุกบ้านและร้านตัดผมไปเลย

“ปุจฉาพาเสียว” แสดงให้เห็นว่า “พวกอนุรักษนิยม” ทั้งที่มีอำนาจและเป็นประชาชนธรรมดาๆ ต่อต้านคอลัมน์ตอบปัญหาเพศว่า “ทำลายศีลธรรม” และ “เป็นภัยต่อระเบียบสังคม” แต่ไม่ได้เล่าว่าแล้วหนังสือพิมพ์คู่แข่งที่พิมพ์ภาพโป๊ถูกต่อต้านหรือไม่แม้แต่นิดเดียว

ความแตกต่างระหว่าง “คอลัมน์ตอบปัญหาเพศ” กับ “ภาพโป๊” คือ “ดร.ไคลแมกซ์” ตอบปัญหาเพศด้วยความรู้ทางการแพทย์ผสมภาษาซึ่งชวนเสียวสำหรับเด็กที่อวัยวะเพศเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ภาพโป๊มุ่งเร้าอารมณ์ทางเพศแล้วขายความตื่นเต้นทางเพศจากการมีอารมณ์โดยไม่สนใจความรู้อะไรเลย

ภาพยนตร์เรื่องนี้ชี้ประเด็นโดยไม่ได้ตั้งใจว่าการขายภาพโป๊ชัดๆ ทำได้ แต่การตอบปัญหาทางเพศกลับถูกต่อต้าน

และเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ย้อนแย้งแบบนี้อาจเป็นเพราะ “การเมือง” ที่อยู่ในการพูดเรื่องเพศในฐานะ “ข้อเท็จจริงอันน่ากระอักกระอ่วน” ของสังคมไทยเอง

“ดร.ไคลแมกซ์” ตอบปัญหาทางเพศโดยให้ผู้อ่านเข้าใจว่ากามารมณ์เป็นเรื่องธรรมดา และความเพลิดเพลินใจทางเพศด้วยวิธีต่างๆ เป็นเรื่องปกติ การตอบปัญหาเพศจึงมีศูนย์กลางที่การทำให้บุคคลยอมรับตัวตนของตัวเองในฐานะปัจเจกบุคคล ไม่ใช่การจำนนต่อศีลธรรมหรือค่านิยมสังคม

 

Robert Darnton เคยเขียนว่า หนังสือที่แพร่หลายก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสคือหนังสือโป๊ ไม่ใช่หนังสือปรัชญา

เหตุผลแบบสรุปง่ายๆ คือ หนังสือโป๊ต้องอ่านคนเดียวและมีความสุขคนเดียว สำนึกเรื่องปัจเจกจึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นสำนึกของการไม่อยู่ใต้บงการของรัฐและสังคม

คอลัมน์ “ปุจฉาพาเสียว” ถูกผู้มีอำนาจข่มขู่ทันทีที่พูดเรื่องพื้นๆ อย่างการสำเร็จความใคร่และปัญหาหลั่งเร็ว แต่กองบรรณาธิการก็ยืนยันพิมพ์ต่อจนยกระดับเป็นพิมพ์ทุกวัน หลังจากนั้นเมื่อคอลัมน์เริ่มพูดเรื่องต้องห้ามอย่างการมีอารมณ์ทางเพศกับวัตถุ ฯลฯ การคุกคามก็ลุกลามเป็นการปะทะโดยตรง

เมื่อถึงจุดนี้ กอง บ.ก.เริ่มถกเถียงว่าควรถอยคอลัมน์นี้หรือไม่ แต่ตัวละครที่ชื่อคล้าย “พนมเทียน” ก็ยืนยันว่าเราต้องปกป้องเสรีภาพและความหลากหลายในสังคม

ขณะที่ตัวละครอื่นก็บอกว่า “ดร.ไคลแมกซ์” ต้องยกระดับการเขียนให้ทะลุเพดานโดยตอบคำถามเรื่องชายรักชายในสังคมไทย

ด้วยการทำให้โลกในหนังกลายเป็น “สังคมเปิด” ตัวละครใน “ปุจฉาพาเสียว” ปะทะกับโลกจนตัวตนเปลี่ยนไปตลอดเวลา “ดร.ไคลแมกซ์” ที่เคยโยนจดหมายคนรักเพศเดียวกันทิ้งลงตะกร้าก็กลับมาตอบว่าชายรักชายไม่ผิด ส่วนตัวละครหญิงก็เปลี่ยนจากกุลสตรีเป็นมีชู้จนอาจทำแท้งไปเลย

เพื่อไม่ให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการโฆษณาชวนเชื่ออุดมการณ์เพศแบบเสรีนิยมจนจบที่วาทกรรมว่าผู้หญิงทุกคนล้วนหื่นกามและต้องการสนุกทางเซ็กซ์จนไม่สนใจอะไรเลย ตัวละครหลักอีกรายที่นอนกับใครก็ได้กลายเป็นคนที่ไม่อยากทำแท้งและอยากมีชีวิตคู่แบบผัวเดียวเมียเดียวในบั้นปลาย

ความน่าชื่นชมของ “ปุจฉาพาเสียว” คือการไม่โรแมนติกกับสังคมไทยจนทำให้สังคมมีความหวังจนเกินจริง หนังพูดถึงตัวละครชายรักชายในยุคที่คนเชื่อว่าเอดส์เป็นโรคระบาดและเกย์คือความวิปริต แต่ทันทีที่ “ดร.ไคลแมกซ์” บอกให้ตัวละครนี้เปิดตัวก็จบด้วยการถูกซ้อมจนเกือบฆ่าตัวตาย

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ การเคารพตัวตนเป็นเรื่องต้องทำ การบอกโลกว่าเราคือใครเป็นเรื่องต้องคิด แต่การทำให้สังคมยอมรับตัวตนของคนที่มีความหลากหลายไม่เคยเป็นเรื่องง่าย

และทางเดียวที่เราทำได้คือ ต้องอยู่ในโลกให้นานพอที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคม

 

“ปุจฉาพาเสียว” ไม่ได้พูดเรื่องเพศเพื่อเพศ แต่ชวนให้คิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เป็น “ข้อเท็จจริงอันน่ากระอักกระอ่วนในสังคม” ซึ่งแต่ละยุคย่อมมีต่างกัน ยิ่งกว่านั้นคือการยืนยันว่าการเคารพตัวเองไม่ผิด การบอกโลกว่าเราคือใครทำได้ แต่ความเสี่ยงจากสังคมที่ปิดกั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังเช่นกัน

ไม่ว่าจะเรื่องเพศในทศวรรษ 2530 หรือปัญหา 112 ในปัจจุบัน สังคมไทยแต่ละยุคมี “ข้อเท็จจริงอันน่ากระอักกระอ่วน” ที่การปะทะระหว่างความคิดเก่าและความคิดใหม่เกิดไม่หยุด การใช้กำลังปิดกั้นเป็นเรื่องผิด และทางออกเดียวคือการทำให้สังคมเปิดจนทุกคนมีโอกาสเลือกชีวิตตัวเอง

“ปุจฉาพาเสียว” บอกเราว่า แม้ทุกสังคมจะมีเพดาน การทะลุเพดานเป็นเรื่องปกติ การดันเพดานทำได้ อย่าปล่อยให้คนดันเพดานเจ็บ และไม่ควรปล่อยให้คนบ้ามีอำนาจไล่กระทืบคนที่ต่อต้านอำนาจ ต่อให้คนมีอำนาจจะเป็นคนบ้าก็ตาม