ลำพัง ‘การค้าเสรี’ ไม่สามารถยกระดับชีวิตของประชาคมโลก : ข้อสังเกตการเจรจาการค้าเสรี Thai-EU

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

การเจรจา ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรปเดินหน้ามาอย่างต่อเนื่อง

ผมเองมีโอกาสติดตามเรื่องนี้และได้แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง

แน่นอนว่ารัฐบาลไทยเองมีธงการเปิดการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปและพยายามอย่างมุ่งมั่นมาหลายเดือน เช่นเดียวกันรัฐบาลยุโรปรวมถึงกลุ่มธุรกิจทั้งในไทยและสหภาพยุโรปเองก็มุ่งมั่นในการทำให้การเจรจานี้ลุล่วงให้ได้

การเจรจาการค้าเสรีครั้งนี้ก็จะเหมือนทุกครั้ง คือกลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและการเมืองเป็นผู้วางกรอบ วางเงื่อนไข ได้ประโยชน์เป็นอันดับแรก และประชาชนมีแนวโน้มจะได้ประโยชน์ลำดับท้ายๆ

และเช่นเดียวกันเมื่อมีผลเสียต่อ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม แรงงาน ประชาชนที่ไร้อำนาจต่อรอง ก็มีแนวโน้มที่จะรับผลเสียเป็นอันดับแรกๆ

จริงอยู่ว่าการเจรจาการค้าเสรีไม่ใช่เรื่องใหม่ ออสเตรเลีย จีน นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เปรู ชิลี อินเดีย ก็เป็นประเทศที่มีการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับไทย ยังไม่นับรวมข้อตกลงผ่านประชาคม ASEAN ที่ไทยเป็นสมาชิก

แต่คำถามสำคัญในยุคสมัยนี้ เรายังเชื่อจริงๆ หรือว่า “การค้า” เป็นประตูด่านแรกสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาคมโลก

ในหลายศตวรรษที่ผ่านมาเราเชื่อว่า เมื่อมนุษย์ทำการค้า พวกเขาจะเห็นประโยชน์ร่วมกัน และสร้างความร่วมมือต่างๆ ได้มากขึ้น และทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมพัฒนาขึ้น

ซึ่งตามหลักประวัติศาสตร์แล้วจริงๆ การค้าส่วนมากก็จบลงที่การทำสงครามหรือการแย่งชิงทรัพยากร

แม้ในปัจจุบันโอกาสที่เราจะเห็น “การค้า” นำสู่การสร้างสันติสุข และความเจริญของคนทุกกลุ่มก็เป็นเรื่องที่พบเจอได้ยาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้าและการลงทุนที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ที่มีอำนาจไม่เสมอกัน

ดังที่เราจะเห็นในกรณีประเทศกัมพูชา ที่การเจรจาการค้าเสรีนำสู่การเสื่อมถอยของทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และหลายอย่างไม่สามารถหวนกลับได้

 

ผมไม่ได้มีจุดยืนที่ต่อต้าน ความร่วมมือระหว่างประเทศ และผมเองก็เรียกตัวเองว่ามีจุดยืนที่สนับสนุนแนวคิดสากลนิยม

แต่การที่กล่าวว่า “การค้าเสรี” เป็นหนทางเดียวในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นการกล่าวที่เกินจริง

เพราะมันกำลังพูดถึงเพียงผลประโยชน์ของคนข้างบน 1% ของทั้งสองภูมิภาค ภายใต้ข้อสมมุติที่ว่า เมื่อคนรวยของทั้งสองพื้นที่ รวยมากขึ้น และเมื่อพวกเขารวย ก็จะสร้างงาน เสียภาษี กระจายความมั่งคั่งสู่คนส่วนใหญ่

ทั้งหมดนี้แทบไม่เกิดขึ้น แม้แต่กับทุนภายในประเทศ

และจะสามารถคาดหวังกับกลุ่มทุนข้ามชาติที่ไม่มีข้อผูกมัด หรือถูกตรวจสอบทางการเมือง หรือทางกฎหมายอย่างเข้มงวดได้อย่างไร

ดังนั้น ข้อเสนอของผมโดยพื้นฐานเราไม่สามารถปล่อยให้การเจรจาการค้าเสรีเดินหน้าต่อไปและไปตามซ่อมตามเก็บทีหลัง ก็จะเป็นการปล่อยเสือเข้าป่า โดยที่เราอาจไม่สามารถตามแก้อะไรได้ ในเบื้องต้น การผลักดันการสร้างความร่วมมืออย่างเป็นองค์รวม

ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงของการสร้างงานที่มีคุณค่า-การสร้างงานที่เหนือกว่ามาตรฐานกฎหมายแรงงาน แต่นำมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานและแรงงานสัมพันธ์ในระดับสากลเข้าร่วมด้วย

การวางระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีส่วนแบ่งกำไรที่กำหนดชัดเจนในการกลับเข้าสู่ชุมชนหรือท้องถิ่น

รวมถึงแผนพัฒนาแรงงานระยะยาว ที่เป็นการยกระดับคุณภาพด้านการทำงาน รวมถึงวิธีคิดต่อระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น

แม้ทางสหภาพยุโรปอาจมีช่องทางการร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานการผลิตที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่ได้ตามมาตรฐานแรงงานสากล

แต่เราอย่าลืมว่า ตามมาตรฐานของประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ เราจะเห็นว่าเมื่อสื่อมวลชนนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจ ก็จะมีกระบวนการการฟ้องเรียกค่าเสียหาย หรือที่เรียกว่า การฟ้องปิดปาก ซึ่งลักษณะนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสหภาพยุโรป

แต่เมื่อบรรษัทข้ามชาติจากสหภาพยุโรปมาในไทย นอกจากนำเครื่องจักร และเงินทุน ก็ควรนำเข้ามาตรฐานการคุ้มครองเสรีภาพของการนำเสนอประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศปลายทางด้วยเช่นกัน

 

หากกล่าวโดยสั้น การค้าเสรีก็จะนำมาสู่ การย้ายฐานการผลิต ที่กลุ่มทุนข้ามชาติจะใช้ทรัพยากร และแรงงานราคาถูกในประเทศปลายทาง ไม่ว่าจะมากหรือน้อย

พวกเขาก็จะทิ้งรอยแผลไว้ในประเทศปลายทางไม่ว่าจะพยายามอย่างดีเพียงใด

ดังนั้น การชดเชยเยียวยาอย่างเป็นระบบ ซึ่งกระบวนการที่มีในปัจจุบันคือ Official Development Aid-ODA งบประมาณด้านการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ ซึ่งแต่ละประเทศจะมีการวางงบประมาณส่วนนี้ไว้

ซึ่งข้อเสนอสำหรับภาคประชาชนในประเทศไทยที่สำคัญ คือการสร้างข้อตกลงที่ชัดเจนว่าในสัดส่วนกำไรที่ได้จากการค้าและการลงทุนในไทย จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นงบประมาณ ODA เท่าไร ที่จะเป็นงบประมาณด้านยการพัฒนาการศึกษา เทคโนโลยี คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยและรับประกันเสรีภาพของการตรวจสอบ

และที่สำคัญสุดท้าย การเจรจาทางเศรษฐกิจใดๆ ไม่สามารถแยกขาดกับเงื่อนไขทางการเมืองได้ หากประเทศที่ยังมีการคุมขังนักโทษทางการเมือง หรือกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

สหภาพยุโรปเองก็จำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้เช่นกัน

ถ้าบรรยากาศทางการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ผลเสียของการค้าเสรีก็จะทวีคูณและรุนแรงต่อประชาชนมากขึ้นเช่นกัน