อาฟเตอร์ช็อก และปรากฏการณ์ผีเสื้อขยับปีก ควันหลงสงคราม สว.

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการเลือกสรร ส.ว. 2567 เป็นเวทีชิงชัยที่ดุเดือดเลือดพล่านที่สุดสนามหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ทว่า ดีกรีความร้อนแรงนี้เป็นที่สัมผัสได้เฉพาะในหมู่ผู้สมัคร ส.ว.ด้วยกันเอง และผู้ติดตามอย่างใกล้ชิดเท่านั้น

ตรงข้ามกับการรับรู้ของประชาชนทั่วไปที่เห็นว่าเวทีนี้เงียบเชียบเหมือนป่าช้า

ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากการจำกัดจำนวนผู้มีส่วนร่วมโดยตรงให้เหลืออยู่เพียงหยิบมือ ด้วยการจำกัดอายุและคุณสมบัติของผู้สมัครให้เหลือปริมาณผู้ที่ผ่านเกณฑ์มาไม่มาก

นอกจากนั้นยังจำกัดรูปแบบและวิธีการแนะนำตัวที่ล้อมกรอบไว้แบบตึงแน่นจนแทบขยับตัวทำอะไรไม่ได้

ส่งผลให้ท้ายที่สุดความเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ของผู้สมัครจะวิ่งพล่านอยู่แต่ในไลน์กลุ่มของผู้สมัครด้วยกันเองเท่านั้น

 

บรรยากาศในไลน์กลุ่มของผู้สมัครนั้นแตกต่างจากบรรยากาศข้างนอกแบบคนละโลก

จากการที่ผู้สมัครแต่ละคนกระหน่ำส่งไลน์เข้ามาในกลุ่มทั้งวันทั้งคืนแบบ nonstop

โดยเฉพาะอย่างในยามรุ่งสางที่เหล่าบรรดา ส.ว. ที่ย่อมาจากสูงวัย และว่าที่ ส.ว. ที่ย่อมาจากสมาชิกวุฒิสภา ตื่นขึ้นมาทันใดก็เริ่มกิจวัตรประจำวันด้วยการส่งรูปภาพและข้อมูลของตนเข้ามารัวๆ แทนการส่งสติ๊กเกอร์สวัสดีวันจันทร์ สวัสดีวันอังคาร ตามความเคยชินก่อนเข้ามาสมัคร

จุดเปลี่ยนของบรรยากาศนี้คือมีไลน์กลุ่มอีกประเภทหนึ่งเพิ่มขึ้นมาด้วย นั่นคือ กลุ่มของผู้ที่ผิดหวังจากรอบจังหวัดที่เข้ามารวมตัวกันเพื่อสนทนา ระบาย ปรับทุกข์ และแลกเปลี่ยนเรื่องราว ตลอดจนรวบรวมข้อมูลสำหรับการร้องเรียนปัญหาต่างๆ ที่พบมาจากกระบวนการเลือกสรรในระดับอำเภอและจังหวัด

บางคนตั้งความหวังจะล้มกระดานเพื่อเลือกใหม่

บางคนตั้งใจจะทำให้เป็นโมฆะทั้งหมดแล้วแก้ไข พ.ร.ป.ส.ว.

บางคนหวังแก้เผ็ดผู้สมัครคนอื่นที่เบี้ยวนัดไม่โหวตให้ตามที่คุยกันไว้

 

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดสมรภูมิ ส.ว.ในครั้งนี้ก็เดินทางมาถึงจุดสุดท้าย โดยผู้ที่เหลือรอดมาถึงระดับประเทศ 3,000 คน ก่อนถูกตัดสิทธิออก 5 คน เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาแล้ว และถูกตัดสิทธิเพิ่มอีก 6 คนในเช้าวันที่ 26 มิถุนายน เนื่องจากมารายงานตัวไม่ทันตามกำหนดเวลา

ทำให้หลงเหลือผู้เข้าแข่งขันในรอบสุดท้ายระดับประเทศ 2,989 คน ก่อนจะคัดให้เหลือกลุ่มละ 40 คน จำนวน 20 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 800 คน ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกไขว้ให้เหลือ 200 คนจาก 20 กลุ่มอาชีพ

บรรดา 800 คนที่ผ่านการเลือกภายในกลุ่มอาชีพระดับประเทศนั้นยังคงมีคนดังผ่านเข้ามาถึงจุดนี้อยู่หลายคน เช่น นันทนา นันทวโรภาส สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล อังคณา นีละไพจิตร วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ษิทรา เบี้ยบังเกิด บรรจง นะแส ประภาส ปิ่นตบแต่ง เทวฤทธิ์ มณีฉาย ประทีป คงสิบ แล ดิลกวิทยรัตน์ ชิบ จิตนิยม ฯลฯ

ในขณะที่บิ๊กเนมอย่างเช่น นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรักษาการนายกรัฐมนตรีในช่วงปลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับตกรอบไปแบบพลิกโผ

ซึ่งเมื่อกระบวนการเลือกสรรเสร็จสิ้นครบทุกขั้นตอน ไม่ว่าสุดท้ายแล้วใครจะได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา 1 ใน 200 คนก็ตาม ก็พอจะมองเห็นเค้าลางได้ว่าเหตุการณ์ที่ตามมาจากสนามนี้ก็คือ

1. คลื่นของการร้องเรียน 2. อาฟเตอร์ช็อกจากการสอย 3. ปัญหาคะแนนเสียงและความชอบธรรมของผู้ที่ได้เป็น ส.ว.

 

1.คลื่นของการร้องเรียน

เกิดการร้องเรียนเป็นจำนวนมากจากผู้สมัครที่อกหัก

การยื่นเรื่องร้องเรียนคัดค้านเหล่านี้จะยื่นไปทั้งที่ กกต. และศาลฎีกา บางกรณีอาจดำเนินไปให้ถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้มีคดีค้างศาลเป็นจำนวนมาก

ที่สำคัญก็คือ เมื่อใดก็ตามที่ศาลวินิจฉัยคดีใดโดยไม่เป็นคุณกับผู้ที่ได้เป็น ส.ว. จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรายชื่อ ส.ว.อื่นๆ ด้วย

เช่น หากมี ส.ว.คนที่ 4 ใน 10 คนของกลุ่มอาชีพหนึ่งถูกเพิกถอน ก็จะมีบุคคลที่อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มอาชีพนั้นเลื่อนขึ้นมาแทน คนที่ได้ลำดับ 11 จะขยับขึ้นมาแทนที่ในบัญชี ส.ว. 10 อันดับแรก

 

2.อาฟเตอร์ช็อกจากการสอย

เมื่อสถานการณ์การเลื่อนอันดับเป็นเช่นนั้นจึงทำให้กลุ่มผู้สมัครที่ได้อันดับ 11-15 เป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มยื่นเรื่องร้องเรียนมากที่สุดเนื่องจากมีแรงจูงใจสูง

รองลงมาคืออันดับ 15-20

พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งผู้สมัครได้อันดับที่อยู่ใกล้กับ 10 รายชื่อผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ว. มากเท่าใด ก็ยิ่งมีแรงจูงใจในการ “สอย” ผู้ที่อยู่ใน 10 อันดับแรกมากเท่านั้น

หากลำดับ 11-15 สอยคนข้างบนลงมาได้สำเร็จ ต่อไปก็จะถึงคิวของคนที่เดิมได้ลำดับ 15-20 มีโอกาสที่จะพยายามเป็นผู้สอยบ้าง

ดังนั้น สถานการณ์หลังวันที่ 26 มิถุนายน จึงไม่น่าจะจบลงแบบสงบสุขโดยทันที

แต่อาจมี “อาฟเตอร์ช็อก” ตามมาอีกหลายเดือน

 

3.ปัญหาคะแนนเสียงและความชอบธรรมของผู้ที่ได้เป็น ส.ว.

ปัญหาที่ตามมาจากการที่มีผู้สมัครบางคนหรือผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ว.บางคนถูกตัดสินว่ากระทำผิดก็คือสถานะความชอบธรรมของผู้ที่ได้เป็น ส.ว.ที่เหลืออยู่ทั้งหมด เพราะในระบบการเลือกสรร ส.ว.แบบนี้ คะแนนทุกคะแนนได้ส่งผลไปถึงสถานะของผู้อื่นแบบโดมิโน คือเชื่อมโยงถึงกันเหมือนใยแมงมุมแผ่คลุมไปทั่วทั้งองคาพยพ เนื่องจากแต่ละคนได้รับคะแนนเสียงมาทำให้ตนมีสิทธิไปลงคะแนนเสียงต่อ จากนั้นคนที่ได้รับคะแนนเสียงมาก็มีสิทธิไปลงคะแนนเสียงต่อเป็นทอดๆ ไปเรื่อยๆ จนได้ 200 คนสุดท้าย

เพราะฉะนั้น เมื่อมีบางคนถูกสอยออกไป หากดำเนินการให้ถูกต้องจริงๆ ก็ต้องลบคะแนนของเขาออกไปด้วย

แต่การลบคะแนนของเขาออกไปนั้นไม่สามารถลบตัวเลขออกไปได้เฉยๆ แต่การออกเสียงที่ผู้กระทำผิดโหวตมาสมควรแทนที่ด้วยการโหวตของคนใหม่ที่เดิมเป็นผู้แพ้ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าหากเป็นคนใหม่โหวต เขาจะลงคะแนนให้ใคร โหวตอย่างไรกันแน่

ด้วยเหตุนี้สถานะของผู้ที่เป็น ส.ว.จึงคลุมเครือว่าได้คะแนนมามากกว่าคู่แข่งจริงหรือไม่ ได้คะแนนเท่าใด ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อความชอบธรรมของตัว ส.ว.คนนั้นในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปด้วย

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็คือ นาย ก ได้รับเลือกให้เป็น ส.ว. ในฐานะอันดับที่ 10 ของกลุ่ม X แล้วต่อมาถูกศาลพิพากษาว่ากระทำผิดจริงเพราะขาดคุณสมบัติ ซึ่งทำให้เขาต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ว.

ผลที่ตามมาแรกสุดคือ เกิดการเลื่อนนาย ข ซึ่งอยู่ลำดับ 11 ขึ้นมาแทนนาย ก

แต่อย่าลืมว่ากว่านาย ก จะมาถึงจุดนี้ได้ เขาได้ผ่านการลงคะแนนเสียงมาแล้ว 6 ครั้ง คือภายในกลุ่มอาชีพระดับอำเภอ เลือกไขว้ระดับอำเภอ ภายในกลุ่มอาชีพระดับจังหวัด รอบไขว้ระดับจังหวัด ภายในกลุ่มอาชีพระดับประเทศ และรอบไขว้ระดับประเทศ

ซึ่งหากย้อนกลับไปลบ นาย ก ออกจากกระบวนการที่ผ่านมาทั้งหมด ผลการเลือกย่อมไม่ออกมาเป็นเช่นนี้ แต่คนอื่นจะได้ผ่านเข้ามาสู่รอบลึกๆ แทนนาย ก สมมติว่าเป็น นาย ค เข้ามาแทน เขาย่อมโหวตต่างไปจากนาย ก อยู่แล้ว เมื่อโหวตต่าง ผลลัพธ์ก็ต่าง ผลลัพธ์ที่ต่างส่งผลให้มีคนตรงจุดอื่นกลายเป็นผู้ชนะ ส่วนผู้ชนะกลายเป็นผู้แพ้ ซึ่งก็จะส่งผลต่อเนื่องไปเป็นลูกโซ่แบบ “ปรากฏการณ์ผีเสื้อขยับปีก” หรือ “บัตเตอร์ฟลายเอฟเฟ็กต์” (Butterfly Effect)

ที่ความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในจุดหนึ่งย่อมส่งสะเทือนไปสู่จุดอื่นอย่างต่อเนื่องเป็นโดมิโน ดังคำกล่าวที่ว่า

เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว