วิชิต สุรพงษ์ชัย (3)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เรื่องเร้าใจเกี่ยวกับธนาคารเก่าแก่ของไทย กับผู้นำยุคหนึ่งซึ่งยาวนานและกำลังจะผ่านพ้น

กว่า 2 ทศวรรษ ธนาคารไทยพาณิชย์ กับช่วงเวลาแห่งสีสัน การเปลี่ยนแปลง และปรับตัว ตลอดยุคผู้นำคนสำคัญ-ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย

จากเริ่มต้นในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (10 ธันวาคม 2542) จนถึงวันสุดท้ายในตำแหน่งประธานกรรมการ เอสซีบีเอกซ์ (20 กรกฎาคม 2567) นับเป็นเวลานาน เกือบ 25 ปีเต็ม จากในวัย 54 ปี จนจะมาถึงวัย 80 ปีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

หากนับรวมช่วงเวลาในฐานะนายธนาคารมืออาชีพ วิชิต สุรพงษ์ชัย มีประสบการณ์เกือบครึ่งศตวรรษ จะถือว่ายาวนานที่สุดในวงการธนาคารไทยสมัยใหม่ก็ว่าได้

ยุค วิชิต สุรพงษ์ชัย ในธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดฉากขึ้นในบริบทช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญสังคมธุรกิจไทย ผลสะเทือนอันรุนแรงที่สุดต่อระบบธนาคารพาณิชย์ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในปี 2540

ว่าไปแล้ว เขาเข้ามารับช่วงต่อ หลังจากช่วงหัวเลี้ยวหัวหัวต่อสำคัญได้ผ่านไปแล้ว ในกระบวนการแก้วิกฤตการณ์ธนาคารไทยพาณิชย์อย่างกระชั้น ค่อนข้างตึงเครียด (โปรดพิจารณา TIME-LINE ประกอบ)

ภารกิจของ วิชิต สุรพงษ์ชัย ในธนาคารไทยพาณิชย์ ดูมีความชัดเจนอย่างยิ่ง และมีความต่อเนื่องอย่างเหลือเชื่อ

 

ในช่วง 7-8 ปีแรก (2542-2550) วิชิต สุรพงษ์ชัย ทำงานร่วมกับ ชฎา วัฒนศิริธรรม ด้วยทั้งสองมีภูมิหลังแตกต่างกันมาก จึงเป็นช่วงแห่งการปรับตัวที่น่าสนใจ

ชฎา วัฒนศิริธรรม มาจากโมเดลเดิม ด้วยภูมิหลังเชื่อมโยงธนาคารไทยพาณิชย์ ด้วยนามสกุลเดิม-กฤษณามะระ บุคคลในตระกูล ผู้มีบทบาทยุคก่อตั้ง จนถึงผู้บริหารยุคเก่ายาวนาน อีกด้านเธอมีประสบการณ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ปี 2510-2518) ตามแบบแผนยุคธนาคารไทยพาณิชย์ก่อนหน้า

วิชิต สุรพงษ์ชัย เคยกล่าวไว้ แนวคิดเกี่ยวกับ Change Program ว่ามีมาตั้งแต่วันแรกๆ เข้ามารับตำแหน่งก็ว่าได้ แต่ไม่ทำในทันที “ผมใช้เวลาจัดการเรื่องหนี้เกือบ 2 ปี กว่าจะเสร็จ…” เขาอ้างถึงงานช่วงแรกในการจัดการหนี้เสียก้อนใหญ่ๆ

ในวาระเฉลิมฉลองศตวรรษธนาคารไทยพาณิชย์ ได้มีจัดทำหนังสือชุด 100 ปี ทั้งฉบับภาษาไทย “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์” (2550) เรียบเรียงโดย นวพร เรืองสกุล และฉบับภาษาอังกฤษ “Century of Growth” (2007) Text by Stephen Lowy (EDITIONS DIDERS MILLET, Singapore) สาระในนั้นให้ความสำคัญเรื่องที่ว่ามามากทีเดียว โดยเฉพาะในบทส่งท้ายโดยวิ ชิต สุรพงษ์ชัย เอง

“ในปี 2544 เราได้เริ่มทำโครงการปรับปรุงธนาคาร หรือ Change Program : ขึ้น เราได้ทำสำรวจว่าในตอนนั้น ลูกค้ามองธนาคารเป็นอย่างไร ซึ่งพบว่าลูกค้าและนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศไม่ได้ตื่นเต้นกับธนาคารไทยพาณิชย์เท่าไหร่ เขาไม่เห็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนทางธุรกิจ ว่าเราจะเป็นเช่นไร…” เขาเขียนในบรรทัดแรกๆ และปิดท้ายอย่างตั้งใจ (ขอตัดตอนเฉพาะที่เห็นว่าสำคัญ)

“…Change Program ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2549…ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ การก้าวเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีสินทรัพย์เป็นอันดับที่ 3 มีมูลค่าตลาดรวมถึง 205,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ซึ่งถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์…”

ในหนังสือชุด 100 ปี ทั้งสองเล่มข้างต้นให้ความสำคัญเป็นพิเศษ “จุดเปลี่ยนที่สำคัญมากสำหรับอนาคตธนาคารไทยพาณิชย์…เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2544…” (หนังสือ “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์”) เป็นข้อสรุปหนึ่ง โดยกล่าวถึงรายละเอียดแผนการไว้พอสมควร รวมทั้งระบุถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการปรับปรุงธนาคาร (Change Program Steering Committee) โดย วิชิต สุรพงษ์ชัย เป็นประธาน

เมื่อพ้นการเฉลิมฉลองศตวรรษธนาคารไทยพาณิชย์ (2449-2559) ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา นายกกรรมการ (2541-2550) ลาออก โดย อานันท์ ปันยารชุน เข้ารับตำแหน่งแทน (2550-2562) และเปลี่ยนกรรมการผู้จัดการใหญ่ จาก ชฎา วัฒนศิริธรรม (วาระดำรงตำแหน่ง 2542-2550) มาเป็น กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ (2550-2558)

ถือว่าเป็นการก้าวเข้าสู่ยุค วิชิต สุรพงษ์ชัย อย่างแท้จริง

 

จากจุดตั้งต้น Change Program ตั้งแต่ปี 2544 ขยับปรับพอสมควร พลิกสู่แผนการที่เรียกว่า ‘Going Upside Down’ (กลับหัวตีลังกา) ในต้นปี 2561 ดูสะดุดเล็กน้อยในช่วงเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ พร้อมๆ กับปรับตัวเข้ากับกรรมการผู้มาใหม่ ที่สำคัญ (เมษายน 2562) มีการการแต่งตั้ง วิชิต สุรพงษ์ชัย เข้าดำรงตำแหน่งนายกกรรมการ แทน อานันท์ ปันยารชุน และในเวลาต่อมา (ปี 2564) ได้จัดโครงสร้างธุรกิจใหม่อย่างจริงจัง เป็น “ยานแม่” (Mothership) ใหม่ ภายใต้ชื่อ SCBX

กระบวนการให้เป็นจริงอีกขั้นมาถึง เมื่อ (1 มีนาคม 2565) มีประกาศ กำหนดการซื้อหลักทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ โดย บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) จากนั้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศให้บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (ซึ่งยังใช้ชื่อย่อเหมือนเดิม-SCB) เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน เริ่มซื้อขายวันที่ 27 เมษายน 2565 ขณะเดียวกันได้เพิกถอนธนาคารไทยพาณิชย์ (ใช้ชื่อย่อใหม่-SCBB) จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน “SCB ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลัก” คำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับลักษณะธุรกิจที่เป็นไป

จังหวะเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนั้น เมื่อเดินหน้ามา 2 ปีเต็มแล้ว วิชิต สุรพงษ์ชัย ได้ตัดสินใจลาออกจากทุกตำแหน่ง

เป็นเรื่องราวผู้นำธุรกิจคนหนึ่ง ผู้มีโอกาสน่าทึ่ง ทั้ง “ขาขึ้น” และ “ขาลง” •

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com

วิชิต สุรพงษ์ชัย (1)

วิชิต สุรพงษ์ชัย (2)