สว.ใหม่ การเมือง(ไม่)ใหม่! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

วันที่ 26 มิถุนายน เป็น “วันตัดสินอนาคตประเทศ” อีกครั้งหนึ่ง จากการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่เกิดขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า สว. เป็นตัวแสดงสำคัญในการกำหนดทิศทางอนาคตการเมืองของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลของการเลือกที่ได้มา จึงทำให้เกิดคำถามอย่างมากถึง ผลที่จะเกิดขึ้นกับอนาคตการเมืองไทย และในอีกด้านหนึ่ง ก็เกิดคำถามว่า สว.ใหม่จะทำให้เกิด “การเมืองใหม่” ที่เป็นผลดีต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทยได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม การออกแบบกติกาการเลือกตั้ง สว. ที่เกิดขึ้น เป็นที่รับรู้กันว่า เป็นกติกาที่มีปัญหาตั้งแต่ต้น เพราะเมื่อกฎหมายเลือก สว. ได้ถูกประกาศออกมาแล้ว ตามมาด้วยข้อถกเถียงและคำถามมากมายในกระบวนการที่จะเกิดขึ้น ซึ่งทุกคนที่ติดตามจะมีความเห็นตรงกันว่า ถ้ากติกาการเลือกเป็นแบบนี้ จะทำให้เกิดการร้องเรียน หรือฟ้องร้องตามมา อันเป็นผลโดยตรงจากการออกแบบของ คสช. โดยคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งทำหน้าที่อย่างดีในการออกแบบ และสร้างกติกาที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองประสบปัญหาในตัวเอง และน่าจะเป็นการเลือก สว. ที่น่าจะมี “ข้อครหา“ และเสียงวิจารณ์ทางลบมากที่สุดในอีกแบบ

การออกแบบเช่นนี้ ทำให้ความหวังในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ว่า “สภาสูง” หรือวุฒิสภาจะทำหน้าที่ในการเป็น “พี่เลี้ยง” สำหรับ “สภาล่าง” หรือสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะในเรื่องของการตรวจสอบในเรื่องของกฎหมาย เพื่อให้กฎหมายที่ออกมาเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับสังคม ซึ่งทฤษฎีทางรัฐศาสตร์เป็นเช่นนั้น เพราะการออกแบบของโครงสร้างทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นเช่นนั้น

ในบางประเทศ สภาสูงจะมีสถานะของการเป็น “สภาผู้ทรงคุณวุฒิ” ที่เป็นที่รวมของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อช่วยในเหลือในการมีบทบาทของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” (รัฐสภา) ที่มีหน้าที่หลักในการออกกฎหมาย และยังตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของ “ฝ่ายบริหาร” (รัฐบาล) เช่นในเรื่องของงบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น

แต่ทฤษฎีหลักรัฐศาสตร์ที่เป็นวิชาพื้นฐานที่นักเรียนรัฐศาสตร์ได้เรียนในตอนเป็นนิสิตปีที่ 1 นั้น มีสภาพ “ตกม้าตาย” กับการออกแบบของคุณมีชัย และ “ตาย” ในแบบที่คาดเดาได้ตั้งแต่ต้น … ว่าที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะคุณมีชัยและคณะรัฐประหาร คสช. ไม่ได้ต้องการการออกแบบให้ สว. ชุดใหม่ ที่จะกำเนิดขึ้นในยุคหลังการสิ้นสุดอำนาจของ คสช. นั้น เป็นไปเพื่อเสริมสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย เพราะการแต่งตั้ง สว. ทั้ง 2 ชุดที่ผ่านมาเป็นอำนาจอย่างเต็มที่ที่อยู่ในมือของผู้นำรัฐประหาร 2557 ทั้ง 3 นายพล

หลายครั้งที่มีคำถามในทางวิชาการว่า ประเทศใดใช้กติกาการเลือกตั้ง สว. ในแบบของประเทศไทยบ้าง หรือว่า กติกานี้ออกแบบเพื่อใช้กับ “การเมืองไทยยุคหลัง คสช.” เท่านั้น และการใช้กฎหมายนี้ เป็นภาพสะท้อนว่า อิทธิพลของคณะรัฐประหาร หรืออาจต้องเรียกกติกาแบบนี้ว่า “ทายาทอสูร” ของ คสช. ยังหลงเหลืออยู่ในการเมืองไทย แม้จะเปลี่ยนสภาพไปกับเงื่อนไขการเมืองในปัจจุบันก็ตาม

ดังนั้น เราจึงเห็นได้ถึงความสำเร็จของพรรคการเมือง เพราะ สว. จาก “สายการเมือง” เช่นจาก “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคก้าวไกล” ไม่ชนะ แต่ “พรรคภูมิใจไทย” ชนะอย่างคาดไม่ถึง หรือโดยนัยของผลอีกด้านคือ พรรคฝ่ายตรงข้าม คสช. ไม่ชนะ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เรากำลังเห็น “ฐานกำลังใหม่” ในวุฒิสภา หรือ “พรรคภูมิใจไทย สาขา2” กำเนิดในวุฒิสภา … การเมืองไทยจากนี้ จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง และมีผลกับรัฐบาลเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยอย่างมากด้วย

กระนั้นจะเห็นอีกด้วยว่า ทุกคนที่เห็นกฎหมายนี้มีความรู้สึกไม่ต่างกันว่า กติกานี้ถูกออกแบบให้เกิดความ “มั่ว” ในตัวเอง และหลายเรื่องที่เกิดขึ้นบน “ความไม่ชัดเจน” ของกติกา และต้องให้ กกต. ที่เป็นผู้ถือกฎนี้ตัดสิน หรือเกิดความมั่วในเรื่องของอาชีพของบุคคลในแต่ละสาขาต่างๆ ดังที่ปรากฏเป็นข่าว เช่น คนประกาศเสียงตามสายในระดับหมู่บ้าน จะถือเป็นอาชีพสื่อหรือไม่ หรืออาชีพเช่นไรสำหรับบุคคลที่จะลงในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น

ดังนั้น ในวันที่ 27 มิถุนายน จึงมีเรื่องให้เราหัวเราะสนุกๆ กับอาชีพของบุคคลเหล่านี้ แต่ก็กลายเป็นคำถามสำคัญกับบทบาทของ สว. ในอนาคต และการเมืองไทย “ยุคหลัง สว. ใหม่” จะเป็นเช่นไร

ในอีกด้านหนึ่งของกติกาเลือกไขว้ ก็เกิดการ “ฮั้ว” การฮั้วยังมีนัยถึงคำสัญญาที่จะช่วยกาคะแนนให้ แต่ก็บางที่กลายเป็นการ “หักหลัง” กัน เพราะไม่มีใครยอมใคร และสัจธรรมคือ ทุกคนอยากเป็น ไม่อยากตก … ในบางกรณี อาจตามมาด้วยการ “จ่าย” แม้การจ่ายจะยังไม่ถูกตรวจสอบอย่างจริงจังจาก กกต. ก็ตาม แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นภาพลักษณ์ที่ดีของวุฒิสภาในอนาคตแต่อย่างใด จนทำให้เกิดภาพหลักของการเลือก สว. ชุดนี้ ด้วยปัญหา 4 คำ คือ “มั่ว-ฮั้ว-หัก-จ่าย” และการเลือกครั้งนี้ กลายเป็น “ภาพลบ” ของการเมืองไทยในอีกแบบ

ภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามตามมาอย่างมีนัยสำคัญว่า คำว่า “สว. ประชาชน” จะยังมีความหมายเพียงใดในการเมืองไทย ยกเว้นจะคิดแบบปลอบใจตัวเองว่า อย่างน้อยคนพวกนี้ก็ไม่ใช่ “สว. 3 ลุง” ซึ่งคิดเช่นนี้แล้ว ก็อาจสบายใจไปอีกอย่าง

กระนั้น ก็มีบางท่านที่สามารถฝ่าฟันด่านต่างๆ เข้ามาได้ด้วยคุณสมบัติของตนเอง ซึ่งก็คงพอเป็นความหวังเล็กๆ ที่อาจจะเป็นดัง “หิ่งห้อย” ในกระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทย แต่อย่างน้อยก็พอเป็นความหวัง ไม่ให้สังคมต้องหดหู่เกินไปในยามนี้

อีกทั้ง ในทางปฏิบัติไม่แน่ใจว่า เรากำลังเห็นการก่อตัวของ “ขั้วอำนาจใหม่” ในการเมืองไทยหรือไม่ หรือเอาเข้าจริงๆ แล้ว เรากำลังเห็น “การเมืองสาขา 2” ในระบบรัฐสภาไทยเท่านั้นเอง!

ปล.: ทำอย่างไรที่ประชาชนจะได้เลือก สว. จริงๆ ไม่ใช่ต้องซื้อตั๋ว 2,500 บาทไปเลือก แล้วก็ยังไม่ได้เลือกอีก !