E-DUANG : โครงสร้าง อำนาจ ปรับเปลี่ยน จากภาพ 200 สมาชิก”วุฒิสภา”

การดำรงอยู่ของ 200 สมาชิกวุฒิสภา”ใหม่”จะดำรงอยู่อย่างแตกต่างไปจากการดำรงอยู่ของ 250 สมาชิกวุฒิสภา”เก่า”อย่างสิ้นเชิง

มั่นใจได้เลยว่าจะประสบกับการท้าทายที่รุนแรงและมากด้วยความแหลมคมยิ่งกว่า แม้จะมีจุดแข็งมาจาก”การเลือก”ก็ตาม

มองอย่างเปรียบเทียบ”การเลือก”ด้วยผู้สมัครด้วยกันเอง แตกต่างไปจาก”การจิ้มเลือก”โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อย่างแน่นอน

แต่ภายใน”การเลือก”ตามกฎและกติกาอันจัดวางเอาไว้โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่เคยมีบทสรุปว่า DESIGN มาเพื่อ”พวกเรา”ก็ยังมีความแตกต่าง

กระนั้น ผล”การเลือก”อันเห็นได้ในรอบสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนจากเมืองทองธานีก็สะท้อนภาพทางการเมืองที่ดำรงอยู่ให้ได้เห็นอย่างชัดเจน แจ่มแจ้ง

แนวโน้มย่อมเป็นภาพอันสัมพันธ์กับพรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลและภาคประชาสังคม

 

ในทางหลักการ การได้มาซึ่ง 200 สมาชิกวุฒิสภา”ใหม่”ดำรงอยู่อย่างแยกห่างจากการเมือง แต่ในความเป็นจริงที่ปรากฏในทางกายภาพล้วนแวดล้อมไปด้วยการเมือง

ทั้งการเมืองอันมีรากฐานมาจากอำนาจ”เก่า” ทั้งการเมืองอันมีรากฐานมาจากอำนาจ”ใหม่”

ยิ่งหากนำเอากระบวนการเลือกตั้งตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2562 มาประสานและทำความเข้าใจกับกระบวนการเลือกตั้งเมื่อ เดือนพฤษภาคม 2566 ยิ่งสัมผัสได้

1 มองเห็นการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน 1 ก็มองเห็นการปรากฏขึ้นแห่งอำนาจ”ใหม่”เพียงแต่ด้วยกระบวนการทั้งอย่างเหมือนเดิมและอย่างใหม่

เหมือนเดิมเพราะยังแอบอิงอยู่กับอำนาจ”เก่า”โครงสร้างเดิมมิได้ต้องการปรับ ต้องการเปลี่ยนไปยังโครงสร้างใหม่

เพียงมองผ่านพรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล

 

การเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 แตกต่างไปจากการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 อย่างชัดเจน

เป็นพรรคก้าวไกล เป็นพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคภูมิใจไทย

แต่เมื่อเกิดสถานการณ์วันที่ 22 สิงหาคม 2522 พรรคเพื่อไทยก็มาครองการนำโดยร่วมกับพรรคภูมิใจไทย และตัดพรรคก้าวไกลออกไปจากสมการ

น่าสนใจก็ตรงที่กระบวนการเลือก 200 สมาชิกวุฒิสภา”ใหม่”พรรคภูมิใจไทยก็เข้ามาอยู่ในฐานะนำ