ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 23-29 มิถุนายน 2560

ขอแสดงความนับถือ/[email protected]

ในวาระ 24 มิถุนายน 2560

ที่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ผ่านมา 85 ปี

“เกษียร เตชะพีระ”

ภูมิใจนำเสนอบทความ “ภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมือง” ผ่านคอลัมน์การเมืองวัฒนธรรม ฉบับนี้

เป็นบทความที่น่าจะช่วยขยายความและทำให้เข้าใจ ปาฐกถา “มุ่งกระแทกกลาง” ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในงาน Direk”s Talk หัวข้อ “ทิศทางการเมืองไทยกับสังคม 4.0” เมื่อวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2560 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้เป็นอย่างดี

โดย “เกษียร เตชะพีระ” ได้ร่วมวง Direk”s Talk ด้วย ในประเด็น “ความขัดแย้งทางชนชั้นกับการเมืองมวลชนรอยัลลิสต์ : ความย้อนแย้งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับพระราชอำนาจนำในสังคมไทย”

ภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมืองที่ว่านั้น

“เกษียร เตชะพีระ” ได้พยายามเชื่อมโยงมาตั้งแต่แนวคิด “รัฐพันลึก” หรือนัยหนึ่ง “รัฐซ้อนรัฐ” (a state within a state) อันโด่งดัง

ซึ่งว่าไปแล้วก็อาจไม่พอเพียงเสียแล้วที่จะทำความเข้าใจสภาพการเมืองไทยที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ไปใหม่ใน พ.ศ.2560 นี้

เพราะสิ่งที่เรากำลังประสบพบเห็น

มันเหมือนดั่ง ตุ๊กตาแม่ลูกดกของรัสเซียที่เรียกว่า Matryoshka doll

ที่เป็นประหนึ่ง a state within a state within a state within a state, etc. หลายต่อหลายชั้นซ้อนทับกัน

แปลกพิลึก พิสดาร ชวนพิศวง

จนอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้กล่าวทักไว้ว่า

(ภูมิทัศน์ใหม่นั้น) “อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็จะได้มาเห็น และอะไรที่เคยเห็น ก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว”

เกษียร เตชะพีระ ปูพื้นให้เราเข้าใจตั้งแต่ว่า สังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ได้เดินทางแสวงหา สลับพลิกผัน ปรับเปลี่ยนไปมา ระหว่างแรงผลักดันต่อสู้ขัดแย้งของโครงการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ในแนวทางต่างๆ อย่างไร

อาทิ โครงการเสรีประชาธิปไตย/สังคมนิยมประชาธิปไตยของ ปรีดี พนมยงค์

โครงการชาตินิยมแบบอำนาจนิยมทหารของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

โครงการเสรีนิยมรอยัลลิสต์ของ ม.ร.ว.เสนีย์ และ คึกฤทธิ์ ปราโมช

โครงการเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

โครงการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยของขบวนการคอมมิวนิสต์

เป็นต้น

แต่ก็ยังไม่ถือว่าลงตัวเท่าใดนัก

กระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ (ในหลวงรัชกาลที่เก้า)

สังคมไทยจึงได้บรรลุฉันทามติของการประนีประนอมรอมชอมระหว่างกระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ กับฐานการเมืองวัฒนธรรมไทยแบบอนุรักษนิยม ที่ลงตัวในระดับหนึ่ง

โดยเฉพาะระหว่างช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นต้นมา

“ฉันทามติแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ”

คืออะไร และอย่างไร

เกษียร เตชะพีระ ได้พยายามหาคำตอบมาให้

และยิ่งไปกว่านั้น ยังได้วิเคราะห์สถานการณ์

“หลัง” การมาของแนวทางประชานิยมเพื่อทุนนิยม+ประชาธิปไตยอำนาจนิยมโดยผ่านการเลือกตั้งของรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร แห่งพรรคไทยรักไทยในราว พ.ศ.2544

ที่สร้างผลสะเทือนต่อฉันทามติเดิมอย่างรุนแรง

จนทำให้ คสช. และสถาบันอำนาจในเครือ โผล่ออกมาเป็นตัวละครสำคัญ และพยายามลากเส้นเขตอำนาจของตนขึ้นใหม่อยู่ในขณะนี้

ภาวะดังกล่าว เกษียร เตชะพีระ เป็นห่วงว่า อาจพาดเกยกันได้ เบียดเสียดกันได้ กระทั่งปะทะชนกันได้กับฐานอำนาจ

จึงนำไปสู่คำถามแห่ง “ปัจจุบัน” สมัยนี้ว่า แล้วจะหาข้อยุติอย่างไร?

จะยืดเยื้อไปนานเท่าใดจึงจะบรรลุฉันทามติใหม่ที่ค่อนข้างลงตัวและเป็นที่ยอมรับของกลุ่มพลังฝ่ายต่างๆ?

หรือจะนำไปสู่ “อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็จะได้มาเห็น และอะไรที่เคยเห็น ก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว” อย่างที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ว่า

คอลัมน์การเมืองวัฒนธรรมของเกษียร เตชะพีระ ทำให้วาระ 85 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย น่าติดตามยิ่ง