ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

“ปาล์มมี่ อีฟ ปานเจริญ”

โพสต์ข้อความถึง “ด้อม”

“ถ้ามี่มีคอนเสิร์ตใหญ่

อยากทราบว่าจะมากันสักกี่คนคะ

ได้กะถูกค่ะ”

ปรากฏว่าเหล่าเอฟซีเข้ามาคอมเมนต์กันระเบิด

นอกจากพลังเกื้อหนุน จนปาล์มมี่ประกาศจะมีคอนเสิร์ตในรอบ 12 ปี วันที่ 7-8 กันยายนนี้แล้ว

น่าสนใจ โพสต์ของเธอ กลายเป็น “ไวรัล”

ดาลใจให้คนในโซเชียลเมียเดีย นำไปดัดแปลง เพื่อสื่อความถึงประเด็นอื่นๆ อย่าง “หนุกหนาน”

แน่นอนรวมถึงปก “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้ด้วย

กล่าวถึงแรงดาลใจแล้ว

“ป๋วย อุ่นใจ” เล่าผ่านคอลัมน์ “ทะลุกรอบ” ในมติชนสุดสัปดาห์นี้

หลังได้รับเชิญไปแชร์ “ประสบการณ์และแรงบันดาลใจ” การทำงานวิจัยในสาขาชีววิทยาให้นักเรียนระดับชั้น ม.4-6 ในกิจกรรม “ฉลาดคิดอย่างวิทยาศาสตร์” ในค่าย Thai Science Camp ประจำปี 2024

จัดโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

มีนักเรียนหัวกะทิจากโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ มาร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน

อาจารย์ป๋วย สัมผัสได้ถึงแรงใจ ไฟฝันและความหวังที่เต็มเปี่ยมของคนรุ่นใหม่

แม้ความฝันยากที่จะทำให้เป็นจริง

แต่สำหรับบางคน แม้ว่ายากเพียงใด เขาก็จะเพียรพยายามไปให้ถึงฝั่งฝัน

และบางทีความฝันนั้นก็อาจจะเป็นอะไรที่พลิกโลก

อาจารย์ป๋วย จึงย้ำกับน้องๆ ว่า

“อยากให้ฝันไปให้ไกล และพยายามที่จะไปให้ถึงฝัน”

 

อาจารย์ป๋วย ยก “สวานเต พาโบ” นักพันธุศาสตร์จากสถาบันมานุษยวิทยาวิวัฒนาการมักซ์ พลังก์ มาเป็นแรงบันดาลใจ ให้นักเรียนฟัง

ตั้งแต่เด็ก สวานเตชื่นชอบเรื่องราวของมัมมี่จากดินแดนไอยคุปต์

และฝันที่จะไขปริศนาแห่งมัมมี่โบราณ

แต่สวานเตไม่ได้เรียนต่อทางอียิปต์วิทยา

กลับเป็น “อณูชีววิทยาของไวรัส”

กระนั้น ความสนใจในปริศนาแห่งไอยคุปต์ก็ยังไม่เคยจืดจาง

เขาใช้เวลาว่างจากห้องทดลองไปเป็นอาสาสมัครอยู่ในสถาบันวิจัยอียิปต์วิทยาแห่งหนึ่ง

จนเริ่มมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างอณูชีววิทยากับซากโบราณจากดินแดนไอยคุปต์

และอยากสกัดสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ของมัมมี่ดึกดำบรรพ์ ออกมาศึกษา

พูดให้ใครเขาฟัง ก็ต้องบอกว่าบ้า

แต่เพื่อทำตามความฝันวัยเยาว์ สวานเตทำการทดลองยาวนานหลายปี

แล้วความพยายามก็ประสบผล

สวานเตตีพิมพ์งานวิจัยของเขาเรื่อง Molecular cloning of Ancient Egyptian mummy DNA ลงในวารสาร nature ในวันที่ 18 เมษายน ปี 1985

เปเปอร์นี้คือหลักฐานที่บ่งชี้ชัดถึงพลังแห่งความฝัน

สวานเตคือมนุษย์คนแรกที่แยกและโคลนดีเอ็นเอจากซากมัมมี่โบราณได้เป็นผลสำเร็จ

ความสำเร็จนี้กลายเป็นจุดพลิกผันของชีวิตของเขา

ทำให้เขาสนใจเรื่องราวของดีเอ็นเอดึกดำบรรพ์ ริเริ่มบุกเบิกวงการบรรพพันธุศาสตร์ (palaeogenomics)

และในที่สุด ก็เป็นผู้ไขปริศนาความลับแห่งจีโนมมนุษย์นีแอนเดอร์ธัล

ทำให้เขาสามารถคว้ารางวัลโนเบลไปครองในปี 2022

 

ที่ขับเน้นเรื่องแรงบันดาลใจ และความฝัน

ด้วยเพราะไม่อยากให้สิ้นหวังกับแรงบันดาลใจ และความฝัน

อย่าง 200 สมาชิกวุฒิสภา ที่เรากำลังจะได้มา หลังจากเลือกกันเอง เมื่อ 26 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

จะตอบสนองการได้มาซึ่งกลไกประชาธิปไตย ในฝันหรือไม่

ยังยากจะคาดการณ์ได้

ด้วยมีการกล่าวหา กล่าวร้าย ต่อการได้มาของ ส.ว.มากมาย

จนโพสต์ของปาล์มมี่ ดาลใจ มาสู่การตั้งคำถามบนปกมติชนสุดสัปดาห์

“ส.ว.White Collar Crime

อยากทราบว่า

จะมากันสักกี่คนคะ

ได้กะถูกค่ะ”

แม้จะตลกร้าย ขำขื่นเพียงใด

แต่กระนั้น เราก็ไม่ควรเลิกฝัน—ฝันที่จะเดินหน้าประชาธิปไตยกันต่อไป •