“ที่ปรึกษานายกฯ” ชี้ ความสามารถแข่งขันของไทยดีขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังต้องเร่งแก้ไข และ ควรขยายกรอบเงินเฟ้อ จี้ “แบงก์ชาติ” ดำเนินการ 4 เรื่อง

“พิชัย” ชี้ ความสามารถแข่งขันของไทยดีขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังต้องเร่งแก้ไข และ ควรขยายกรอบเงินเฟ้อ จี้ “แบงก์ชาติ” ดำเนินการ 4 เรื่อง ลดช่วงห่างเงินกู้-เงินฝาก, กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่แข่งขันได้ , เพิ่มสภาพคล่องที่ฝืดเคือง และ สนับสนุนการแก้ไขหนี้ที่สูงมาก แนะ ต้องอย่าคิดได้แค่กำกับควบคุม แต่ต้องคิดด้วยว่าจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจอย่างไร

นายพิขัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ การพาณิชย์ การเงินการคลัง พลังงาน การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ไทยอยู่ในอันดับที่ 25 ขึ้นมา 5 อันดับจากอันดับที่ 30 และเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ สาเหตุหลักจากปัจจัยการค้าระหว่างประเทศ ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 23 อันดับ จากอันดับ 29 ในปี 2566 มาอยู่ที่อันดับ 6 แสดงถึงการยอมรับของประเทศไทยในนานาชาติดีขึ้นมาก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่นายเศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปพบผู้นำและนักลงทุนของประเทศต่างๆ

อย่างไรก็ตาม แม้ความสามารถแข่งขันของประเทศไทยจจะดีขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังย่ำแย่และยังมีแนวโน้มที่จะย่ำแย่ต่อไปอีก ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไข ทั้งนี้เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจที่สะสมกันมาเป็นระยะเวลานาน จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำมากมาเป็น 10 ปี ทำให้รายได้ของประชาชนไม่เพิ่มแต่รายจ่ายเพิ่ม เป็นผลทำให้หนี้สินพุ่งสูง ดังนั้นการจะแก้ไขโดยเร็วในระยะเวลาสั้นๆคงเป็นไปไม่ได้ โดยหนี้ครัวเรือนก็พุ่งเกิน 90% ของจีดีพีแล้วตั้งแต่รัฐบาลเข้ามา ปัจจุบันอยูุ่ที่ 91.3% และ หนี้สาธารณะเดิมก็สูงกว่า 61%แล้ว และ ปัจจุบันสูงถึง 63.78% อีกทั้งปัญหาหนี้เสียในระบบจะมีเพิ่มขึ้นอีกมาก ตามที่เคยเตือนตั้งแต่หลายปีแล้วว่าปัญหาหนี้สินจะเป็นระเบิดเวลาของเศรษฐกิจไทย ดังนั้นการแก้ปัญหาหนี้สินจึงเป็นเรื่องหลัก และ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ทั้งนี้ ตามที่ ผู้ว่าฯ ธปท. ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศมีหลายประเด็นที่น่าจะเข้าใจไม่ตรงกัน และ ท่านผู้ว่าฯ น่าจะไปศึกษาข้อมูลให้ชัดเจน เช่น การขยายกรอบเงินเฟ้อซึ่งผู้ว่าฯธปท. เห็นว่าดีอยู่แล้ว แต่รัฐบาลอยากจะขยายกรอบเงินเฟ้อให้สูงขึ้น ทั้งนี้เพราะปีที่แล้วเงินเฟ้อไทยต่ำลงมากตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2566 เหลือเพีย 0.53% จากเดือนมกราคม 2566 ที่มีเงินเฟ้อสูงถึง 5.02 % และ ต่ำมาตลอดหลังจากนั้นคือ มิ.ย 66 ที่ 0.23% ก.ค. 66 ที่ 0.35% ส.ค. 66 ที่ 0.88% และ ก.ย. 66 ที่ 0.30% จนเงินเฟ้อมาติดลบในเดือนตุลาคม 66 ที่ – 0.31% และ ติดลบต่อไปจนทั้งหมด 6 เดือน คือ พ.ย. 66 – 0.44% ธ.ค.66 ที่ -0.83% ข้ามปีมายังติดลบ ม.ค. 67 ที่ -1.11% ก.พ. 67 ที่ – 0.77% มี.ค. – 0.47% ดังนั้นที่เงินเฟ้อมาบวกในเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ 1.54% ก็เพราะ ปีที่แล้วต่ำมากนั่นเอง และเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะบวกไปถึงสิ้นปีถึงต้นปี 68 เพราะมาจากเงินเฟ้อตั้งแต่กลางปีที่แล้วต่ำถึงติดลบนั่นเอง ดังนั้นกรอบการขยายตัวเงินเฟ้อจึงควรสูงขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งอย่านำกรอบเงินเฟ้อของประเทศที่พัฒนาแล้วมาใช้กับประเทศกำลังพัฒนาแบบไทย เพราะเทียบกันไม่ได้ อีกทั้งที่ผ่านมากว่า 10 ปี เงินเฟ้อของไทยยังน้อยกว่าเงินเฟ้อของสหรัฐมาก นี่น่าจะเป็นสาเหตุที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ และประเทศในอาเซียนที่ขยายตัวสูงก็มีเงินเฟ้อที่สูงกว่าไทยมาก

อยากให้เข้าใจง่ายๆว่า เงินเฟ้อต่ำ แปลว่า ถ้าต้นทุนสินค้าต้องเพิ่มขึ้นทุกปีตามราคาปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามวัฏจักรของโลกทั้ง วัตถุดิบ ค่าแรง ค่าพลังงาน ค่าขนส่ง ฯลฯ แต่ราคาสินค้าขึ้นราคาไม่ได้ ธุรกิจต่างๆ ก็จะต้องขาดทุน และ ปิดกิจการ ดังจะเห็นได้จากโรงงานจำนวนมากที่ต้องปิดกิจการกันตอนนี้ ดังนั้นการมีกรอบเงินเฟ้อที่จะขยายกว้างจะทำให้เศรษฐกิจไหลเวียนมากขึ้น โดยตามหลักเศรษฐศาสตร์สภาวะเศรษฐกิจที่มีเงินเฟ้ออ่อนๆ (Mild Inflation) จะเป็นสภาวะเศรษฐกิจที่ดีที่สุด แต่ระดับเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วและในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยจะมีลักษณะที่ต่างกัน

นี่เป็นแค่เรื่องเดียวเท่านั้น ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผู้ว่าฯแบงก์ชาติยังไม่ได้ตอบและยังไม่ได้ดำเนินการใน 4 เรื่อง ดังนี้คือ
1. การลดช่องว่างระหว่างเงินกู้-เงินฝากที่กว้างมากทำไห้ธนาคารพาณิชย์กำไรกันมหาศาลทั้งที่เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ ที่ ธปท. สามารถแก้ไขได้แต่ ธปท. โดยคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน(กนส.) กลับไม่ทำ และทำไมถึงไม่ทำ เพราะขนาด นายกฯ ยังทำให้เห็นแล้วว่าทำได้ โดยเรียกธนาคารพาณิชย์มาเจรจาลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงให้เป็นตัวอย่างแล้ว
2. ทำไมค่าเงินบาทไทยถึงแข็งค่ามากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่น ทั้งที่ ธปท. พูดเสมอว่า ค่าเงินบาทไทยจะต้องอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง โดยทั้ง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนิเซีย มาเลเซีย ที่มีเศรษฐกิจที่ขยายตัวสูง มีค่าเงินที่อ่อนลงกว่า 30-40% แล้ว แค่ค่าเงินบาทยังแข็งค่าโดยเปรียบเทียบแบบนี้ ประเทศไทยจะแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้อย่างไร โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียที่เป็นประเทศที่มีรายได้สูงแล้ว ค่าเงินยังอ่อนลงมาก (จากในอดีต 3.8 ริงกิต/ดอลลาร์ เป็น 4.7 ริงกิต/ดอลล่าร์) เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ทั้ง Microsoft, Google, ByteDance (TikTok) ฯลฯ เข้าไปลงทุนกันมากรายละไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช่หรือไม่
3. การเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ธปท. มีแนวทางอย่างไร เห็นแต่ ธปท. มีแต่ดึงสภาพคล่องออกจากระบบ และ ดีใจว่าไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาก แต่สภาพคล่องในประเทศกลับเหือดแห้ง เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำมาก ธปท. จะมีแผนงานเพิ่มสภาพคล่องและทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้อย่างไร โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปการเข้าถึงแหล่งเงินกู้จะยากมาก เพราะ ธนาคารพาณิชย์ไม่ยอมปล่อยกู้ ธปท. จะแก้ไขอย่างไร
4. การแก้ไข หนี้ครัวเรือนที่สูง และหนี้เสียที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำมาเป็นเวลานาน ธปท. จะมีแนวทางสนับสนุนรัฐบาลอย่างไร เพราะหนี้เสียจะเป็นระเบิดเวลาที่จะทำให้เศรษฐกิจทรุดหนัก โดย ธปท. จะต้องไม่ลืมบทเรียนสมัยต้มยำกุ้งที่ ธปท. ทำความเสียหายให้กับประเทศอย่างมากจากการทุ่มเงินสู้ค่าเงินบาทจนนำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจ ประเทศล้มละลาย จนยังมีหนี้ค้างกันอยู่ในหนี้สาธารณะของประเทศจนถึงทุกวันนี้ และปัญหาหนี้ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจอีกรูปแบบหนึ่งในอนาคต ธปท. จะช่วยกันแก้ไขและป้องกันอย่างไร

ผู้ว่าฯ ธปท. จะต้องเข้าใจว่า ธปท.
ไม่ใช่มีบทบาทแค่กำกับควบคุมอย่างเดียว แต่จะต้องมีบทบาทในการสนับสนุนให้ประเทศพัฒนาและเศรษฐกิจไทยขยายตัวให้มากขึ้นด้วย เหมือนที่ธนาคารกลางประเเทศอื่นทำแม้แต่ในสหรัฐ ผู้ว่า ธปท. น่าจะทราบดีว่า นโยบายการเงินมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ มากกว่านโนบายการคลังมาก ธปท. จะมาพอใจที่เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 2-3% ไม่ได้ เพราะไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น ธปท. ต้องช่วยกันคิดว่าจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้อย่างไร ถ้าจะตำหนิ หรือ บอกว่าไม่เห็นด้วยว่า ไม่ทำเรื่องโน้น ไม่ทำเรื่องนี้ ธปท. ก็ควรจะต้องเสนอด้วยว่า ธปท. จะช่วยทำเรื่องใด อย่างไรบ้าง มีแนวทางอะไรบ้างที่จะสนับสนุนได้ จะเพิ่มสภาพคล่องอย่างไร จะช่วยแก้ไขหนี้ลดหนี้อย่างไร ไม่ใช่เพียงแต่พูดขัดขวางอย่างเดียว แต่ไม่มีข้อเสนอในแนวทางสร้างสรรค์เลย ประเทศที่จะพัฒนาได้ ธนาคารกลางจะต้องสนับสนุนนโยบายการเงินในการพัฒนาประเทศอย่างเต็มที่ เหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วไป

ผู้ว่าฯ ธปท. จะต้องพิจารณาว่าที่ผ่านมาผลงานของ ธปท. ที่สนับสนุนเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เหตุใดตั้งแต่ เป็นผู้ว่าฯ ธปท. มาตั้งแต่ปี 63 แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเลย (เพิ่งจะฟื้นจากช่วงโควิดที่ติดลบ -6.1%) ในขณะที่ประเทศอื่นเขาฟื้นไปไกลขยายเกินไป 15-20% กันแล้ว

ทั้งนี้หากรวบรวมเก็บข้อมูล BigData ของ ธปท. เทียบกับ ธนาคารกลางของเหล่าประเทศคู่แข่งของไทย และ ตรวจสอบด้วย Ai ก็จะสามารถพิสูจน์ได้ว่า ธปท. มีประสิทธิภาพขนาดไหนเมื่อเทียบกับ ธนาคารกลางของประเทศคู่แข่ง ซึ่งจะได้คำตอบว่าทำไมเศรษฐกิจไทยถึงได้ย่ำแย่กว่าประเทศคู่แข่งมาก