เพื่อไทยงัดกฏหมาย “ชาญ” ไม่ต้องหยุดทำหน้าที่ แต่ “กฤษฎีกา” ยัน ต้องหยุด ป้องกันไม่ให้ยุ่งคดี

กรณีมีการออกมาตั้งข้อสังเกตว่า นายชาญ พวงเพ็ชร์ ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีพรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้ง มีคดีค้างเก่าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด และเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยศาลประทับรับฟ้องแล้ว อาจทำให้นายชาญต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อเข้ารับตำแหน่ง

 

เพื่อไทย ยัน ‘ชาญ’ ไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที

นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ ฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย เห็นว่า เรื่องนี้ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องเอง ขณะที่ศาลประทับรับฟ้องนั้น นายชาญไม่มีตำแหน่งหน้าที่ จึงไม่มีกรณีที่ต้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ต้องถือว่าขณะนี้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาล ถ้าจะต้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ป.ป.ช.ที่เป็นโจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อศาล

นายสรวงศ์กล่าวว่า นอกจากนั้นการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ไม่มีบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาของศาลอาญาทุจริต เพียงแต่เขียนไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.เท่านั้น และเป็นดุลพินิจของศาลว่าต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ไม่ใช่เป็นการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ ต้องเป็นเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองนายชาญให้เป็นนายก อบจ.แล้ว

นายสรวงศ์กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการอ้างคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาว่านายชาญต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น เป็นเรื่องการใช้อำนาจตามกฎหมายการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น เป็นกรณีทั่วไป กรณีนี้เมื่อคดีอยู่ในอำนาจศาลแล้ว ควรให้ศาลเป็นผู้สั่ง ถ้ากระทรวงมหาดไทยสั่ง ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ผู้ถูกคำสั่งสามารถฟ้องร้องไปยังศาลปกครองได้…

 

กฤษฎีกา ยัน โดยตรรกะต้องหยุด กันไม่ให้มายุ่งเหยิงกับคดี 

แต่ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ ตรงกันข้าม  โดยมองว่า เมื่อไหร่ที่เข้ารับหน้าที่ ก็ต้องหยุด

เมื่อถามว่า เมื่อเข้ารับตำแหน่งต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ใช่ เพราะวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้เหตุผลทุกกรณีไว้ว่าหากถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดย ป.ป.ช.ชี้มูล และมีคำถามว่าระหว่างนั้นเขาพ้นตำแหน่งแล้วกลับเข้ามาทำหน้าที่ใหม่จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งโดยตรรกะต้องหยุด เพราะไม่ต้องการให้ยุ่งเหยิงกับคดีที่ผ่านมา และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นหลักกฎหมายปกติ

เมื่อถามว่า กรณีดังกล่าวถือว่าต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยอัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องมีหน่วยงานใดมาชี้ใช่หรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ไม่ต้องมีหน่วยงานใดมาชี้ เพราะเป็นไปตามผลของกฎหมายอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า นายชาญมีสิทธิไม่เชื่อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า หากนายชาญไม่เชื่อ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) จะเป็นคนชี้ เพราะมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลเรื่องของการเข้าสู่ตำแหน่ง การดำรงตำแหน่ง และการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น สถ.จึงเป็นผู้มีคำสั่งดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป

เมื่อถามว่า ใครจะทำหน้าที่แทนนายชาญ นายปกรณ์กล่าวว่า คงเป็นปลัด อบจ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ อย่างไรก็ตามในรายละเอียดเรื่องนี้อยากให้สอบถามอธิบดี สถ. และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย