จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 28 มิ.ย.-4 ก.ค. 2567

 

• มุมมอง “เจนซี-มิลเลนเนียล”

ดีลอยท์ ประเทศไทย เผยผลสำรวจ Deloitte Global 2024 Gen Z and Millennial Survey – Thailand Perspective

ซึ่งเป็นผลการศึกษาสะท้อนมุมมองของเจนซี และมิลเลนเนียลชาวไทย ที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

Global 2024 Gen Z and Millennial Survey จัดทำขึ้นโดยดีลอยท์ ต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 13

ทำการสำรวจมุมมองแนวคิดเชิงลึกของคนในเจนซี และมิลเลนเนียล จำนวน 22,841 คนจาก 44 ประเทศทั่วโลก

มีคนไทยที่เข้าร่วมการตอบแบบสอบถามทั้งหมด 301 คน

แบ่งเป็น เจนซี (อายุระหว่าง 19-29 ปี) 201 คน

และมิลเลนเนียลชาวไทย (อายุระหว่าง 30-41 ปี) จำนวน 100 คน

ผลการสำรวจมีดังต่อไปนี้

เรื่องที่เจนซีมีกังวลมากที่สุด

คือ ค่าครองชีพ (ร้อยละ 37) การว่างงาน (ร้อยละ 36) และความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง (ร้อยละ 21)

ปัจจัยที่มิลเลนเนียลมีความกังวลมากที่สุด

คือ ค่าครองชีพ (ร้อยละ 37) ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง (ร้อยละ 26) และความไม่มั่นคงทางการเมือง/ความขัดแย้งระดับโลก (ร้อยละ 24)

ผู้ตอบแบบสอบถามเจนซีในประเทศไทย ร้อยละ 42 และมิลเลนเนียล ร้อยละ 60 รู้สึกดีถึงดีมากกับสภาพจิตใจโดยรวมของตนเองในปัจจุบัน เทียบกับปี 2566 โดยคนทั้งสองกลุ่มระบุว่ามีความเครียดน้อยลง

ผู้ตอบแบบสอบถามเจนซีที่บอกว่ารู้สึกวิตกกังวลหรือเครียดตลอดเวลาหรือเกือบตลอดเวลา ลดลงจากร้อยละ 51 เหลือร้อยละ 40 และมิลเลนเนียล ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 39 เหลือร้อยละ 38

เหตุผลที่สร้างความเครียด ได้แก่ การเงินในอนาคต การเงินในชีวิตประจำวัน และงาน

ความคาดหวังของเจนซีและมิลเลนเนียลไทยต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินว่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้าลดลง เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยความคาดหวังต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ของเจนซี ลดลงจากร้อยละ 27 เหลือร้อยละ 15

และมิลเลนเนียล ลดลงจากร้อยละ 26 เหลือร้อยละ 22

ความคาดหวังต่อสถานการณ์การเงินของตัวเอง ของเจนซี ลดลงจากร้อยละ 37 เหลือร้อยละ 19 และมิลเลนเนียล ลดลงจากร้อยละ 38 เหลือร้อยละ 33 และความคาดหวังต่อสถานการณ์โดยรวมของเศรษฐกิจ/การเมืองของเจนซี ลดลงจากร้อยละ 27 เหลือร้อยละ 15

และมิลเลนเนียล ลดลงจากร้อยละ 24 เหลือร้อยละ 23

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทย ร้อยละ 81 และ 92 ตามลำดับ ตอบว่ามีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนกลุ่มเดียวกันทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ ที่ร้อยละ 62 และ 59 ตามลำดับ

เจนซี ร้อยละ 90 และมิลเลนเนียล ร้อยละ 91 มองว่าภาครัฐและภาคธุรกิจควรมีบทบาทในด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น

ทั้งนี้ ร้อยละ 92 ของเจนซี และร้อยละ 93 ของมิลเลนเนียล ยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยแนวปฏิบัติยอดนิยม ได้แก่ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าแฟชั่นด่วน (Fast Fashion) ลดการเดินทาง ศึกษาข้อมูลด้านการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทก่อนการอุดหนุนสินค้าของบริษัทนั้นๆ รับประทานมังสวิรัติ หรือวีแกน (Vegan) และเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า

ปัจจัยด้านการทำงาน

คนรุ่นใหม่ไทยมีเป้าหมายในการทำงานที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกโดยร้อยละ 96 ของเจนซีในประเทศไทย และร้อยละ 99 ของมิลเลนเนียล ตอบว่าการมีเป้าหมายในการทำงานค่อนข้างสำคัญหรือสำคัญมากต่อความพึงพอใจในงานและความเป็นอยู่ที่ดี

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ร้อยละ 55 ของเจนซี และร้อยละ 60 ของมิลเลนเนียลในประเทศไทย ปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมายที่ขัดต่อจริยธรรมและความเชื่อของตนเอง

ร้อยละ 55 ของเจนซี และร้อยละ 57 ของมิลเลนเนียล ปฏิเสธที่จะร่วมงานกับองค์กรที่ขัดต่อจริยธรรมและความเชื่อของตนเอง โดยจะเลือกทำงานกับองค์กรที่ตอบโจทย์ในการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) มีโอกาสในการเรียนรู้ และเป็นงานที่มีความหมาย

ดีลอยท์ ประเทศไทย

 

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ

คือ คนเจนซี และมิลเลเนียล กว่าครึ่ง

ปฏิเสธจะร่วมงาน

กับองค์กรที่ขัดต่อจริยธรรมและความเชื่อของตนเอง

ถือเป็นแนวโน้มที่ดี

องค์กรสำคัญๆ อาทิ “องค์กรทางการเมือง”

ควรสดับฟัง

• เกมการเมือง

เกมอำนาจฟาดฟัน

สนั่นบ้านสะท้านเมือง

สังคมแตกเป็นเสี่ยง

“ทุกเลวเนื่องการเมืองไทย”

“ผู้ใด?” เหลิง – ลำพอง

มุ่งสนองกิเลสตน

ลับ – ลวง – พราง ฉ้อฉล

ประพฤติตนเลี่ยงบาลี

สำคัญตนยิ่งใหญ่

ข่มไพร่ฟ้าสามัญชน

กลิ้งกลอกเหตุแลผล

กลับคำตนปฏิญาณ

ครั้นไม่สมประโยชน์

ลุพิโรธวาทัง

ยกตนเป็นที่ตั้ง

ไม่ฟังเสียงประชาชน…

ประชาชนผู้เสียโอกาส

จากอำนาจ (ทาสอารมณ์)

กระทำย่ำยีให้ขื่นขม

ต้องตรอมตรมนิรันดร

“เป็นประชากรใต้เกมการเมือง (ไทย)”

สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

 

เชื่อว่า

ปัญหาจริยธรรม

ที่คนเจนซี-มิลเลนเนียล ไม่ยอมรับ

และคนเจนอื่นก็ไม่น่าจะรับได้

นั่นคือ “เกมอำนาจ และ การเมือง”

เกมที่ “ทุกเลวเนื่องการเมืองไทย” อย่างที่ “สงกรานต์ บ้านป่าอักษร” ว่า

แน่นอน ย่อมรวมถึงเกมอำนาจแถวปทุมวัน

อย่างที่ ไมตรี รัตนา ว่ามาด้วยเช่นกัน