ปลัดมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามการขับเคลื่อนหมู่บ้านคชานุรักษ์ บ้านเขาใหญ่ น้อมนำพระดำริสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร

ปลัดมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามการขับเคลื่อนหมู่บ้านคชานุรักษ์ บ้านเขาใหญ่ น้อมนำพระดำริสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร เน้นย้ำ ขยายผลสร้างการรับรู้แนวทางการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าในทุกพื้นที่ ควบคู่การเสริมสร้างหมู่บ้านยั่งยืน เพื่อให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน

วันนี้ (23 มิ.ย. 67) เวลา 08.15 น. ที่หมู่บ้านคชานุรักษ์ หมู่ที่ 4 บ้านเขาใหญ่ ต.พลวงทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบนโยบายการดำเนินงานโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชนหมู่บ้านคชานุรักษ์ ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มสัมมาชีพแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของผู้ประสบภัยจากช้างป่า ผลิตภัณฑ์จากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า พร้อมเดินทางไปปลูกต้นยางนา และเดินเยี่ยมชมบริเวณโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านเขาใหญ่โดยมี นายกิติพล เวชกุล ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวนิภา ทองก้อน ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน นายรังสรรค์ หังสนาวิน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาชุมชน นายสมศักดิ์ ไกรเดช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนชลบุรี โดยนายอำนาจ เจริญศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วย นายวรนัฐ ติรประเสริฐสิน พัฒนาการจังหวัดชลบุรี นายนันทวัฒน์ ทองช่วง นายอำเภอบ่อทอง นายปัณณธร ล่ามแขก พัฒนาการจังหวัดฉะเชิงเทรา ปลัดอำเภอบ่อทอง พัฒนาการอำเภอบ่อทอง นายตระกูล สว่างอารมณ์ ประธานชมรมคชานุรักษ์จังหวัดชลบุรี นายสมโชค สิทธิ์ภานุวงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพลวงทอง นายกัมปนาท พรพรหมวินิจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกษตรสุวรรณ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน อาสาสมัครเฝ้าระวังป้องกันภัยจากช้างป่า และประชาชนในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชบายว่า “ช้างเป็นสัตว์คู่กับประเทศไทยเป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นมงคล ต้องดูแลรักษา และทำให้ช้างป่าอยู่กับชุมชน อยู่กับคนได้อย่างราบรื่นและปลอดภัยทั้งคนและช้าง” จึงนำมาสู่แนวทางการพัฒนาเพื่อให้คนและช้างอยู่กันอย่างสมดุลผ่าน “โครงการพัชรสุธาคนุชานุรักษ์” อันเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาโครงการฯ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นประธานคณะกรรมการโครงการฯ โดยมี คณะทำงานมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ สนองพระราชดำริ เพื่อช่วยขับเคลื่อนทำให้คนกับช้างได้อยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและมีความสุข อีกทั้งยังสร้างองค์ความรู้ การนำผลิตผลทางการเกษตรที่มีในชุมชนมาพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ทั้งจากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน จึงเป็นภารกิจสำคัญของคนมหาดไทยทุกคนที่ต้องน้อมนำมาเป็นหลักชัยในการเพิ่มพูนกำลังใจเพื่อทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ ตนมีความตั้งใจที่จะได้มาติดตามการขับเคลื่อนงานตามแนวพระราชดำริ ตามสภาพจริงและการพัฒนาคุณภาพชีวิตจากการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์ท่านพระราชทานให้พวกเรากว่า 40 ทฤษฎี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด และพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา อันเป็นเครื่องบำรุงหัวใจทำให้เราทุกคนช่วยเหลือดูแลกัน เริ่มจากดูแลครอบครัว และขยายผลไปยังบ้านข้างเคียง จนเต็มทั้งตำบลหมู่บ้าน หากเราทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองช่วยเหลือกันเองได้ก็จะเป็นประโยชน์ และบรรลุเป้าหมายของโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ คือ ทำให้คนอยู่กับช้างได้อย่างเข้าอกเข้าใจ

“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา พระราชทานหนังสือ “เรื่องเล่าชาวคชานุรักษ์” เพื่อเป็นสื่อเผยแพร่ความรู้ด้านพฤติกรรมช้างป่า ให้แก่ นักเรียน เยาวชน ชุมชน และหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า โดยได้ทรงรวบรวมพฤติกรรมของช้างเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักช้าง รู้จักการปฏิบัติตัว รวมถึงเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนอาชีพที่เหมาะสมเพื่อให้คนได้อยู่ร่วมกันกับช้างได้อย่างสมดุล และสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะเราทุกคนต้องช่วยกันในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ซึ่งทุกประโยคมีความหมายและมีนัยสำคัญว่า บ้านเมืองจะพัฒนา เราต้องไม่จมอยู่กับที่ ซึ่งครอบครัวจะดีได้ คนรุ่นใหม่จะต้องคิดและทำให้ดีมากกว่าบรรพบุรุษ อันเป็นการสนองพระราชดำรัสที่เปรียบเสมือนพระบรมราชโองการองค์ที่ 2 ความว่า ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เพื่อให้เกิดการสร้างการรับรู้ความเข้าใจ อย่างแพร่หลาย กว้างขวาง และครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงขอให้กรมการพัฒนาชุมชน ได้ขยายผลเผยแพร่แนวทางและองค์ความรู้ทำให้คนและช้างอยู่ร่วมกันได้ ในพื้นที่จังหวัดรอยต่ออื่น ๆ ตลอดจนถึงทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพราะในปัจจุบันทราบว่าพฤติกรรมของช้างป่า ได้สร้างความเดือดร้อนไปยังพี่น้องประชาชนพื้นที่อำเภอชั้นใน โดยหากพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ได้รับรู้รับทราบแนวทางการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับช้าง ก็จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก ขณะเดียวกัน ขอให้จังหวัดชลบุรี และอำเภอบ่อทอง ได้ขยายผล “หลักสูตรคชานุรักษ์น้อย” ที่ประสบความสำเร็จ ณ โรงเรียนบ้านคลองกุ่ม และโรงเรียนบ้านเขาใหญ่ รวมทั้งขยายผลหนังสือการ์ตูน “เรื่องเล่าชาวประชา” ไปยังทุกโรงเรียนทั้งในพื้นที่อำเภอและพื้นที่จังหวัดชลบุรี ควบคู่การส่งเสริมให้เด็กเยาวชนและผู้คนในหมู่บ้านได้ศึกษาเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ อาทิ การประกวดประขันของคนในหมู่บ้าน ในโรงเรียน การตอบปัญหา การสุนทรพจน์ การโต้วาที การแสดงละครเพื่อสร้างความสนุกสนาน เพื่อต่อยอดขยายผลองค์ความรู้สู่ความยั่งยืน และท้ายที่สุด เราก็จะสบายใจได้ว่า คนรุ่นใหม่จะใช้ชีวิตกับช้างได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ชีววิทยาของสัตว์ และองค์ความรู้อื่น ๆ เพราะหัวใจที่สำคัญของโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ คือ การทำให้คนและช้างป่าอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข และไม่ให้เบียดเบียนสัตว์ทุกประเภท รวมถึงรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) เพราะการย่ำอยู่กับที่คือถอยหลัง แต่คนอื่นเขาเดินไปข้างหน้า ดังนั้น เราจึงต้องต่อยอด ด้วยการพัฒนาไปในทางที่ดี เพราะการกำหนดไว้ในหลักสูตรการเรียนรู้ จะทำให้พวกเรามั่นใจได้ว่าเกิดความยั่งยืน เพราะคนรุ่นใหม่จะรู้วิธีอยู่ร่วมกับช้างอย่างถูกหลัก ถูกวิธี” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ขับเคลื่อนโครงการ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เช่นเดียวกันกับหมู่บ้านคชานุรักษ์ คือการทำให้คนในหมู่บ้านได้อยู่กับสัตว์ทุกชนิดได้ รวมถึง “ช้าง” ซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย และทำให้ทุกตำบลหมู่บ้านเต็มไปด้วยความรักความสามัคคี ประชาชนทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดยมี 8 ตัวชี้วัดหมู่บ้านยั่งยืน อาทิ มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความมั่นคงในปัจจัย 4 มีความมั่นคงทางอาหาร ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” โดยการลดรายจ่ายครัวเรือน ทั้งยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย มีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบยร้อยถูกสุขลักษณะ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีการถ่ายทอดส่งผ่านวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม การรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มบ้าน มีการร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสา เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดมีเป้าหมายเดียวกันคือหมู่บ้านยั่งยืน ผู้นำของพื้นที่ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องช่วยกันขับเคลื่อนลงพื้นที่ทำงานแบบ “รองเท้าสึกก่อนก้นกางเกงขาด” ทำให้เกิดการรวมกลุ่มตามระบบคุ้มบ้าน กลุ่มบ้าน หย่อมบ้าน และมีการทำงานอย่างเป็นระบบในรูปแบบจิตอาสา

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ทั้งหมดเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะทำให้ สังคมเรามีคนดี และมีความสุข มีความรักความสามัคคี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน รู้จักรักใคร่กลมเกลียว ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดยาเสพติด จึงขอขอบคุณสมาชิกหมู่บ้านคชานุรักษ์ทุกคน และขอให้พวกเราทุกคนได้ช่วยกันสื่อสารพูดคุยกับผู้นำของอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน “เพราะการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ” ในการที่จะช่วยกันพัฒนาพื้นที่ของเรา นำไปสู่การทำความดีตอบแทนคุณแผ่นดิน เราทุกคนเปรียบเสมือนญาติแม้ไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน แต่เราต้องช่วยกันทำให้ทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ขอให้ทุกท่านมุ่งมั่นช่วยกันสร้างชุมชน ตำบล หมู่บ้านที่เข้มแข็ง อยู่ด้วยความรัก ความสามัคคี และมีความสุข ทำให้หมู่บ้านคชานุรักษ์แห่งนี้ของพวกเราทุกคนได้เป็นหมู่บ้านยั่งยืน

นายอำนาจ เจริญศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า จังหวัดชลบุรีได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการพัฒนาชุมชน ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ตลอดจนดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง : พัฒนาหมู่บ้านคนรักษ์ช้าง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนการดำเนินงาน “หมู่บ้านคชานุรักษ์” และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง : ขยายผลการพัฒนาหมู่บ้านคนรักษ์ช้าง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนการดำเนินงาน “หมู่บ้านคนรักษ์ช้าง” พื้นที่เป้าหมายที่ด้รับผลกระทบจากช้างป่าของจังหวัดชลบุรี มีจำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ่อทอง อำเภอเกาะจันทร์ และอำเภอหนองใหญ่

นายนันทวัฒน์ ทองช่วง นายอำเภอบ่อทอง กล่าวว่า อำเภอบ่อทอง เป็นอำเภอนำร่องในการป้องกันช้างป่า ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาทั้งช้างตัวและช้างโขลง โดยการผลักดันช่างป่าต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภายในพื้นที่ และพื้นที่โดยรอบ โดยในเรื่องของเครื่องมือและอุปกรณ์ อำเภอบ่อทองได้สนับสนุนวิทยุสื่อสารและไฟฉายส่องสว่างให้กับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครเฝ้าระวังป้องกันภัยจากช้างป่า ฝ. นอกจากนี้ยังมีการจัดหารายได้เพื่อสนับสนุนในการดำเนินโครงการฯ

นายตระกูล สว่างอารมณ์ ประธานชมรมคชานุรักษ์จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า จากสภาพปัจจุบันพบว่า ช้างป่า เดินทางมาจากพื้นที่ใกล้เคียงอำเภอบ่อทอง 2 เส้นทาง ช้างกลุ่มแรกมาจากอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เข้ามาทางตำบลเกษตรสุวรรณ และอีกกลุ่มมาจากจังหวัดระยอง มาอำเภอบ่อทอง เลยไปถึงอำเภอบ้านบึง โดยชุมชนช่วยกันผลักดันตามวิธีการที่ซักซ้อม และสำหรับในส่วนชุมชนเขตป่ารอยต่อ ได้มีการส่งเสริมการทำผลิตภัณฑ์และวิถีชีวิตให้อยู่อย่างสมดุล จำแนกเป็น 1) ดูแลช้างป่ากับ โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หนุนเสริมการสร้างแหล่งอาหาร สร้างแหล่งน้ำ ให้สมบูรณ์ 2) ดูแลคนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาคน ให้คนที่ได้รับผลกระทบ ปรับวิถีชีวิตและสร้างอาชีพเสริม แปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีรายได้ อันจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน