ปลัดมหาดไทย ประชุมหารือเตรียมออกมาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วน 3 เดือน ก.ค . – ก.ย. 67 นี้ เน้นย้ำ มุ่งเดินหน้า “Flagship Project” ป้องกันและแก้ไขยาเสพติดอย่างยั่งยืน

ปลัดมหาดไทย ประชุมหารือเตรียมออกมาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วน 3 เดือน ก.ค . – ก.ย. 67 นี้ เน้นย้ำ มุ่งเดินหน้า “Flagship Project” ป้องกันและแก้ไขยาเสพติดอย่างยั่งยืน พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนแบบเชิงรุก และ Re X-ray อย่างต่อเนื่อง เพื่อหา “กระดุมเม็ดเเรก”

วันนี้ (24 มิ.ย. 67) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม War Room ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระยะเร่งด่วน 3 เดือน (กรกฎาคม – กันยายน 2567) โดยมี นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านความมั่นคง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร.ต.อ.เขตรัฐ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบประชุมออนไลน์ (Zoom Cloud Meeting) ร่วมกับ 4 จังหวัด โดยมีนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายธนภัทร ณ ระนอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาล ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการอย่างเร่งด่วน ขอขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านที่เสียสละเวลาอันมีค่าในการประชุมพูดคุยหารือในครั้งนี้ ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่หนักอกหนักใจของประชาชนคนไทย จากผลสำรวจของนักวิชาการ พบว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาอันดับแรกที่สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน เช่นเดียวกันเมื่อผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่ตรวจราชการและได้มีโอกาสสอบถามประชาชนถึงปัญหาความเดือดร้อน ซึ่งส่วนใหญ่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องที่สร้างความเดือดร้อนและสร้างปัญหาให้กับสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีนัยยะสำคัญว่าเราดำเนินการมาอย่างยาวนานแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ทางรัฐบาลมีนโยบายในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับยาเสพติด และได้กำหนดให้ “ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้น ผู้บริหารของทุกกระทรวง ทุกกรม ตลอดจนผู้นำทั้งส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำท้องที่ จึงต้องพูดคุยหารือและดำเนินการสำรวจว่าจะช่วยกันขับเคลื่อนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างไร ซึ่งการประชุมในวันนี้จะได้นำข้อเสนอแนะในการกำหนดมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระยะเร่งด่วน 3 เดือนต่อไป

“ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยภายใต้กลไกของกระทรวงมหาดไทย นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ได้ดำเนินป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการ Re X-ray ค้นหาผู้ค้ารายย่อย ผู้เสพ รวมถึงผู้ป่วยจิตเภท เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เพื่อนำผู้ป่วยยาเสพติดหรือ “จิตเภท” ไปบำบัด รักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมถึงได้มอบหมายให้กรมการปกครอง ตั้งเป้าหมาย “Change for Good” ในหมู่บ้าน ด้วยการขับเคลื่อนทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในลักษณะ “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) โดยให้หมู่บ้านจัดตั้งระบบคุ้มบ้าน ซึ่งคนในกลุ่มบ้านที่เข้มแข็งจะเปรียบเสมือนตาสับปะรด เป็นส่วนในการช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน ทำงานร่วมกับนายอำเภอ Kick off จัดตั้ง “หมู่บ้านป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด” ในรูปแบบ “กองทุนแม่ของแผ่นดิน” แบบภาคประชาชน มีลักษณะเป็นกลุ่มจิตอาสา ซึ่งเราดำเนินการควบคู่ทั้งกองทุนแม่ของแผ่นดิน แบบเป็นทางการ ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่ดำเนินการคัดเลือกใน 878 อำเภอ เป็นประจำทุกปี เพื่อรับเงินขวัญถุงพระราชทาน (ทุนศักดิ์สิทธิ์) และแบบไม่เป็นทางการ ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย เพื่อทำงานเชิงรุกในการป้องกันและแก้ไขยาเสพติด และมุ่งมั่นตั้งใจทำสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนในทุกตำบลหมู่บ้าน ซึ่งความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดจะเชิญชวนประชาชนที่ยังไม่ได้เป็นกองทุนแม่ของแผ่นดิน มาขับเคลื่อนร่วมกับคณะทำงานในการจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อทำให้เป็น “หมู่บ้านสีขาวปลอดยาเสพติด” โดยไม่ต้องรองบประมาณของ ป.ป.ส. ซึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินการแบบ “Flagship Project” โดยไม่รอข้อสั่งการ โดยมีเป้าหมายทำให้ประชาชนมีความสุข ไม่ต้องเป็นทุกข์ร้อนอันเป็นเหตุเกิดจากอาชญากรรม โจรขโมย หรือ เหตุคุ้มคลั่งซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทยร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะคณะสงฆ์ หรือ ผู้นำภาคศาสนาไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โครงการบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน หรือ โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5 ขยายผลสู่หมู่บ้านศีลธรรม” อีกทั้งความเมตตาจากมหาเถรสมาคม ในการจัดตั้งพระผู้รับผิดชอบประจำตำบล ที่จะเป็นทีมให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ไปร่วมกับผู้รับผิดชอบประจำตำบล ในการลงพื้นที่ไปคลุกคลีตีโมง นำการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และที่สำคัญหากคณะสงฆ์ได้ลงพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายดังกล่าว จะเป็นปัจจัยช่วยให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเกิดผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการพูดคุยหารือแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระยะเร่งด่วน 3 เดือน ในห้วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567 ซึ่งจะเป็น 3 เดือนเข้มข้น ที่พวกเราทุกคนจะร่วมกันทำความดีถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 นี้

“จากข้อมูลการดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของกรมการปกครอง สิ่งสำคัญที่เราจะต้องดำเนินการ คือ ต้องมีการประเมินกลั่นกรองข้อมูลจากการรายงานของจังหวัด เพื่อให้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และครอบคลุม อีกทั้งต้องทำบัญชีจังหวัดที่มีการดำเนินการไม่เป็นไปตามตัวชี้วัด เพื่อติดตามและประเมินผลการทำงานของผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ ให้นำตัวอย่างระบบของจังหวัดสุรินทร์ไปดำเนินการในทุกจังหวัด เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลของจังหวัด ในส่วนการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิบัติให้เป็นไปตามภูมิสังคม ซึ่งระบบสารสนเทศที่จังหวัดสุรินทร์จัดทำขึ้น ถือเป็นตัวอย่างที่ดีสามารถนำไปใช้งาน โดยให้กรมการปกครองได้ส่งทีมคณะทำงาน ไปพูดคุยหารือศึกษาร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เพื่อถอดบทเรียนทำ “Cook Book” เป็นคู่มือให้กับทุกจังหวัด หลังจากนั้น จัดอบรม Workshop เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกับฐานข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตามความสำเร็จขึ้นอยู่กับผู้นำที่เอาจริงเอาจัง และทำให้ผู้ตามมีความเข้มแข็ง จึงขอให้ทุกจังหวัดได้เอาจริงเอาจัง เดือนหน้า Re X-ray เพื่อนำเข้าข้อมูลที่สำคัญเปรียบเสมือนการติดกระดุมเม็ดแรก นำไปสู่การดำเนินการต่อไป พวกเราทุกคนในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ต้องกังวลเรื่องตัวเลขทางสถิติ ขอให้เป็นตัวเลขตามความเป็นจริง โดยนึกถึงประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขอให้กรมการปกครองประสานบูรณาการข้อมูลผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจากเรือนจำทัณฑสถาน หน่วยงานสาธารณสุข และสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปกรอกใส่ฐานข้อมูลในระบบ และนำไปตรวจสอบ Re X-ray ซ้ำ รวมถึงลงไปพูดคุยให้การช่วยเหลือตามสมควรแก่ครอบครัวผู้ที่เดือดร้อนจากยาเสพติด เพื่อให้คนเหล่านั้นได้เป็นตาสับปะรดให้กับเรา ในส่วนของการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด แน่นอนว่าเป้าหมายของการประชาสัมพันธ์ คือ การสร้างการมีส่วนร่วมและความร่วมไม้ร่วมมือในการช่วยสอดส่องดูแลชุมชน ตำบล หมู่บ้าน เพื่อให้เป็นสถานที่ปลอดยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านยั่งยืน หรือ กองทุนแม่ของแผ่นดิน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม เริ่มจากการรับรู้ข่าวสารจากผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนข้าราชการทีมงาน รวมถึงการขอความร่วมมือทุกองค์กรที่มีกำลังในการประชาสัมพันธ์ทุกหน่วยงาน ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา ภาคเอกชน เพื่อช่วยในการประชาสัมพันธ์ให้คนในสังคมมีความตื่นตัว และขอให้ทำการสำรวจวิทยุหอกระจายข่าวในชุมชน ให้เสร็จภายใน 15 วัน โดยให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ทำหนังสือประสานผู้นำท้องถิ่นท้องที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือ เพื่อปรับปรุงทำให้หอกระจายข่าวสามารถใช้ได้อย่างครบถ้วน รวมถึงมีการประเมินความต่อเนื่องในการสื่อสารของผู้รับผิดชอบวิทยุหอกระจายข่าว รวมทั้งเพิ่มพูนช่องทางการสื่อสารขยายผลสร้างความรับรู้ ให้กับทุกเพศทุกวัย เกี่ยวกับปัญหายาเสพติด ซึ่งทุกจังหวัดต้องรวบรวมข้อมูลองค์กรบุคลากรที่ให้ความร่วมมือ ช่วยกันวางระบบส่งต่อข้อมูลสื่อสารซึ่งกันและกันรวมทั้งการติดตามข้อมูล (Feedback) และการประเมินผล

“การแก้ไขปัญหายาเสพติดจะสำเร็จได้ เราต้องทำให้เกิดระบบคุ้มบ้านที่เข้มแข็ง มีความรักความสามัคคี มีจิตอาสา ช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลคนในชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งแนวทางในการดำเนินโครงการหมู่บ้านยั่งยืน และกองทุนแม่ของแผ่นดิน โดยการที่จะทำให้ตำบล ชุมชน หมู่บ้าน ปลอดภัยจากยาเสพติด เราต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา ในฐานะที่พวกเราเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ให้ประสานบูรณาการข้อมูล เพื่อเสนอรัฐบาลขอสนับสนุนเครื่องแสกน X-ray ยาเสพติดในเส้นทางถนนหลวงที่มีการสัญจรหลักของทุกภาคในประเทศไทย รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือ เพื่อการป้องกันและปราบปรามการลำเลียงยาเสพติดสู่ประเทศไทย ในส่วนการบำบัด รักษา ฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดตามศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด (CI) หลังจากที่เราได้ผู้ป่วยต้องนำเข้าสู่การบำบัด โดยทันทีไม่ต้องรอ และต้องดูแลให้การช่วยเหลือการใช้ชีวิต CBTx ให้มีระเบียบวินัย อย่างเป็นระบบ เพื่อขจัดจุดอ่อนในการรอเข้าสู่ระบบเนื่องจากสถานที่ไม่เพียงพอ โดยมีจุดประสงค์เพื่อไม่ปล่อยทิ้งไว้ และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุคาดฝันจากการคุ้มคลั่ง และการกระทำผิดเนื่องมาจากไม่สามารถควบคุมจิตใจและอารมณ์ได้ ทั้งนี้ ขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันให้คำแนะนำ และข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางและมาตรการ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน ต่อไป เพื่อทำให้ประเทศไทยของเรากลับคืนสู่แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง หรือ ดินแดนสุวรรณภูมิ ทำให้สังคมเรามีความรักความสามัคคี เต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในหมู่บ้านยั่งยืนของพวกเราสืบไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย