ปลัด มท. พร้อมด้วยนายกสมาคมแม่บ้าน มท. เป็นประธานพิธีซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย ประจำปี 2567

ปลัด มท. พร้อมด้วยนายกสมาคมแม่บ้าน มท. เป็นประธานพิธีซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย ประจำปี 2567 เน้นย้ำ ทุกภาคีเครือข่ายต้องจับมือร่วมกันเพื่อโลกใบเดียวนี้มีอายุที่ยืนยาวอย่างยั่งยืนตลอดไป

วันนี้ (24 มิ.ย. 67) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานพิธีซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย ประจำปี 2567 โดยมี นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น คณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย คณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยและนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดกาฬสินธุ์ ชลบุรี ราชบุรี ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สมุทรสงคราม จังหวัดสระบุรี และเชียงราย สื่อมวลชน และภาคีเครือข่าย รวมถึงผู้บริหารหน่วยงานที่สนับสนุนคาร์บอนเครดิต 12 หน่วยงาน ที่สนับสนุนคาร์บอนเครดิตรวมทั้งสิ้น 9,205 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นจำนวนเงินกว่า 2 ล้านบาท คงเหลือปริมาณคาร์บอนเครดิตจากโครงการฯ 76,098 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คือ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก บจก.ฮีดากา โยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ บจก.อีเวนท์ แทรเวล เอเชีย บจก.โอ๊คลิน (ประเทศไทย) บจก.ไทยแมนอินดัสตรีส์ บจก.เวคิน (ประเทศไทย) บจก.บีแอลซีพี เพาเวอร์ บจก.ฮีดากา ซูซูโทกุ (ประเทศไทย) บจก.เฮลทีเอิร์ธ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งนอกจากนี้ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยจะสนับสนุนคาร์บอนเครดิตของจังหวัดสระบุรีในการรับรองฯ รอบที่ 3 ในวงเงิน 1 ล้านบาทอีกด้วย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า วันนี้กระทรวงมหาดไทยมีความภาคภูมิใจร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และพี่น้องภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ โดยมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผนึกกำลังแปรเปลี่ยนวาทกรรม “Change for Good” ให้เกิดมรรคเกิดผลเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คํามั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 เพื่อแสดงจุดยืนว่า พวกเราจะช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะลดปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน พร้อมสร้างจิตสำนึก และแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีบนโลกใบนี้ไปยังลูกหลาน

“วันนี้ตนมีความภาคภูมิใจที่ชาวมหาดไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกหน่วยงาน ซึ่งได้แสดงออกอย่างชัดแจ้งว่า พวกเราทุกคนเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดความคิดริเริ่มที่ดีต่อโลกใบเดียวนี้ ด้วยการลุกขึ้นมา Change for Good อันเป็นการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ “แก้ไขในสิ่งผิด” ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ข้าราชบริพารในพระองค์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และแนวพระดำริ Sustainable Fashion ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ทรงเพียรพยายามในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หนุนเสริมให้ประชาชน และผู้ประกอบการผ้าและงานหัตถกรรมทั่วประเทศ ได้ลุกขึ้นมาน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการ “พึ่งพาตนเอง” อย่างไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ด้วยสีธรรมชาติ และวัสดุการทอผ้า” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดของ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ลงพื้นที่บ้านป่าบุก ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งในขณะนั้นมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง และประธานกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน หนุนเสริมศักยภาพและพลังของภาคประชาชนจนทำให้บ้านป่าบุกเป็นต้นแบบสำคัญของการเป็นพลเมืองที่ดีของโลกนี้ โดยเริ่มต้นจากการคัดแยกขยะที่มีความเข้มข้น เป็นระบบ และเป็นวิถีชีวิต เพราะไม่ว่าจะเป็นงานประเพณีใด ๆ ในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะไม่มีการตักอาหารแยกสำรับ แต่จะกินโดยตักจากในหม้อ และเป็นการตักแต่พอรับประทาน ตักแต่พอดีเท่าที่จะกิน ส่วนอาหารที่เหลือก็จะแจกจ่ายไปในครัวเรือน และมีการจัดทำถังขยะเปียกแบบวิถีชาวบ้าน

ดร.วันดี กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในครั้งนั้น ได้รับแนวคิดการจัดทำถังขยะเปียกระบบปิด จึงเป็นที่มาของ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” โดยได้รับการสนับสนุนบุคลากรจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การนำของ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนที่ 17 คือ ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ และภาคราชการที่ขับเคลื่อน คือ อ.ประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) โดยในปัจจุบันมี นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นผู้นำการส่งเสริมการขับเคลื่อนฯ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 7,849 แห่งทั่วประเทศ จนประสบความสำเร็จในวันนี้

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ความสำเร็จที่ยั่งยืนเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะ “ภาคธุรกิจเอกชน” ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ทุกท่านสร้างแรงจูงใจที่จะหนุนเสริมจนส่งผลให้เกิดการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการสนับสนุนเงินทุนในการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตจากพี่น้องประชาชน ซึ่งเงินทุกบาท ทุกสตางค์ ไม่ได้กลับเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดิน แต่จะกลับไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำแนกเป็นรายครัวเรือน เช่น ถ้าสนับสนุน 100 หน่วย ก็จะกลับไปตามสัดส่วน 100 หน่วย และหากภาคเอกชนให้การสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น มากขึ้น demand side ก็จะไป drive supply side หมายความว่า ความต้องการในการสนับสนุนให้เกิดการลดภาวะโลกร้อน ทำให้ประชาชนทุกครัวเรือนช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และใช้ประโยชน์ในทุกวัน ทุกเวลา ที่ก่อให้เกิดขยะเปียกเหล่านั้น อันจะเป็นกลไกทำให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งพวกเราได้ร่วมกันเริ่มต้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 โดยธนาคารกสิกรไทยประกาศจุดยืนเป็นสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินรายแรกของประเทศไทย ที่หยิบยื่นความสำเร็จของการที่จะจูงใจให้พี่น้องประชาชนได้ภาคภูมิใจว่าการเป็นคนดีของโลกด้วยการจัดการขยะสามารถแปลงให้กลายเป็นทุน ในราคา 260 บาท/ตัน รวมมูลค่า 816,400 บาท กลับคืนสู่หมู่บ้านเป็นเงินสวัสดิการชุมชนและสาธารณประโยชน์ ใน 4 จังหวัดนำร่อง คือ จังหวัดลำพูน สมุทรสงคราม เลย และจังหวัดอำนาจเจริญ และในอนาคตหากเราสามารถผลักดันกฎหมายเข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติ เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ควบคุมให้บริษัทที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศต้องรับผิดชอบต่อสังคมได้ ก็จะสอดคล้องกับหลักการสากล และเป็นประโยชน์ต่อโลกใบเดียวนี้ของเรา

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งภาคีเครือข่ายที่เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศ ผู้คอยให้การสนับสนุนและจับมือกับกระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความยั่งยืน” ร่วมกัน ด้วยเจตนาอันมุ่งมั่นที่จะทำให้ SDGs ทั้ง 17 ข้อประสบความสำเร็จเกิดผลเป็นรูปธรรม นั่นคือ ผู้บริหารองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยในขณะนั้น คือ คุณกีต้าร์ ซับบระวาล โดยท่านได้เอาใจใส่ในการผลักดัน Partnership เพื่อให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อสร้างโอกาส สร้างสิ่งที่ดีให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนได้มีโอกาสในการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงคุณอาร์มิดา ซัลเซียะฮ์ อาลิสจะฮ์บานา รองเลขาธิการ UN และเลขาธิการ ESCAP ได้ลงพื้นที่แห่งความยั่งยืนตัวอย่าง คือ อบต.โก่งธนู อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี ภายใต้การนำของ นายบรรหาญ เนาวรัตน์ นายก อบต.โก่งธนู ด้วยการน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ยังผลทำให้ประชาชนในพื้นที่ และพี่น้องประชาชนทั้งจังหวัดลพบุรี ได้มีแหล่งอาหารที่ปราศจากสารเคมี ได้มีองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการขยะ และเป็นสมาชิกที่ดีของโลกใบเดียวนี้ในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับโลก และที่จังหวัดปัตตานี มีการจัดตั้ง “ธนาคารขยะเพื่อการท่องเที่ยว” กล่าวคือ เมื่อมีรายได้จากการจำหน่ายขยะ ก็จะพาสมาชิกในชุมชนไปเที่ยว โดยมีการกำหนดเป้าหมายล่วงหน้า เพื่อที่จะช่วยกันดูแลจัดการขยะอย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยยังคำนึงถึงเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ ด้วยปณิธานแห่งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เราจึงได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม ThaiQM และห้องปฏิบัติการ War Room เพื่อจัดเก็บข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชนเป็นรายครัวเรือน และติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยกลไกทีมจังหวัด ทีมอำเภอ ทีมตำบล และทีมหมู่บ้าน บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และคณะกรรมการคุ้มบ้าน กลุ่มบ้าน หย่อมบ้าน ที่จะคอยติดตามถามไถ่และบันทึกข้อมูลในระบบ เพื่อทำให้เราสามารถดูแลพี่น้องประชาชนทุกคนได้อย่างครบถ้วน “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งฐานข้อมูลเหล่านี้จะได้มีการเชื่อมโยงเข้ากับแพลตฟอร์มขององค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน สร้างพลเมืองที่ดี สร้างสิ่งที่ดีให้กับโลกใบเดียวนี้ร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมกับบูรณาการทุกภาคส่วนในการ Change for Good ในทุกมิติ

“ขอขอบคุณจากใจจริงที่พวกเราทุกคนได้ช่วยกันเริ่มต้น และขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ช่วยต่อยอด ทำให้การเริ่มต้นมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน สร้างความชื่นอกชื่นใจให้พี่น้องประชาชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งที่ดีงามที่พวกเราได้ช่วยกันทำนี้ จะเป็นพลังและเป็นกำลังใจให้พวกเราได้ทำสิ่งที่ดีให้กับประเทศชาติของเราตลอดไป และประการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง อันเป็นเป้าหมายที่พวกเราทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจหลอมรวมใจเป็นหนึ่งเดียวร่วมกัน นั่นคือ เพื่อเป็นการ “ปฏิบัติบูชา” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระผู้ทรงเป็นผู้นำของคนไทยในการลุกขึ้นมา “แก้ไขในสิ่งผิด” ดังที่ทั้ง 12 หน่วยงานวันนี้ที่เปรียบเสมือนเป็นบัวพ้นน้ำ ที่มุ่งมั่นทำสิ่งที่ดีให้กับโลก ดังถ้อยคำที่นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ คนที่ 8 ได้กล่าวไว้ว่า “WE DON’T HAVE PLAN B BECAUSE THERE IS NO PLANET B. : เราไม่มีแผน 2 เพราะเราไม่มีโลกใบที่ 2” ดังนั้น เราจึงต้องทำให้โลกใบเดียวนี้ให้มีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนยาว เพื่อให้ลูกหลานของเราได้ภูมิใจว่า “ประเทศไทยของเราเป็นสมาชิกที่ดีของโลก” ในการทำให้โลกของเรามีชีวิตยืนยาว ด้วยการกระทำสิ่งที่ดีของพวกเราทุกคนเพื่อโลกใบเดียวนี้ตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย