ปลัด มท. ร่วมกับผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ประกาศความสำเร็จการจัดตั้ง “หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน” เนื่องในวันยาเสพติดโลก สนองพระบรมราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปลัด มท. ร่วมกับผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ประกาศความสำเร็จการจัดตั้ง “หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน” เนื่องในวันยาเสพติดโลก สนองพระบรมราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง หลอมรวมพลังแห่งความรู้รักสามัคคี ช่วยกันดูแลชุมชน/หมู่บ้าน ปลอดจากยาเสพติด เพื่อประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน

วันนี้ (26 มิ.ย. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความสำเร็จการจัดตั้ง “หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน” เนื่องในวันยาเสพติดโลก โดยนำแนวทางการดำเนินการของกองทุนแม่ของแผ่นดิน ภาคประชาชนจิตอาสา มาใช้ในการดูแลชุมชน ตำบลหมู่บ้าน ให้ปลอดจากยาเสพติด ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน บูรณาการร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ดำเนินการขับเคลื่อนการจัดตั้ง “หมู่บ้านป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยกองทุนแม่ของแผ่นดิน ตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย” ให้ครบทุกหมู่บ้าน ภายในเดือนมิถุนายน 2567 เพื่อดำเนินการขยายผลตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในระยะเร่งด่วน 3 เดือน เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567 โดยมีเป้าหมายทำให้หมู่บ้านปลอดยาเสพติด รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาอาชีพให้แก่ประชาชน ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้านได้อย่างแท้จริงและมีความยั่งยืน

“กระทรวงมหาดไทยน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระปฐมบรมราชโองการ 4 พฤษภาคม 2562 “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ข้าราชบริพารในพระองค์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระผู้ทรงห่วงใยต่อวิกฤติมหันตภัยจากปัญหายาเสพติด โดยมีเป้าหมายในการขจัดปัญหายาเสพติดให้ได้ผลอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสามัคคีของพี่น้องประชาชน ให้พึ่งพาตนเองบนพื้นฐานของทุนทางสังคมที่มีอยู่ และต่อยอดไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นให้พสกนิกรมีอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ฟื้นฟูวัฒนธรรม สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นและปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยการพึ่งพาความเข้มแข็งของตนเอง ร่วมกันขจัดปัญหายาเสพติดบนพื้นฐานของการให้อภัยทางสังคม ให้ความรู้รักสามัคคี สร้างความสมานฉันท์ของคนในชุมชน สร้างพลังแห่งความดีงาม ทำให้เป็นสังคมแห่งคุณธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งกองทุนแม่ของแผ่นดิน คือ กองทุนที่รวมจิตใจของผู้คน เพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ทุกข์ยาก นับเป็นทุนเริ่มต้นแห่งความดีงาม” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 132 ปีที่กระทรวงมหาดไทย มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนพันธกิจในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยหนึ่งในภารกิจสำคัญเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ คือ “ปัญหายาเสพติด” ที่เป็นต้นเหตุหลักของปัญหาด้านสังคมซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เพราะยาเสพติดทำให้สังคมเกิดความวุ่นวาย เกิดปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการทะเลาะวิวาท หรือปัญหาครอบครัว เราจึงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจรังต่อเนื่อง และได้ขับเคลื่อนนโยบายอย่างเข้มข้นในทุกมิติทุกพื้นที่ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ยาเสพติดหมดไปจากประเทศไทย

“ปัจจุบันเรามีหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน ที่ได้รับเงินขวัญถุงพระราชทาน จำนวน 24,967 แห่ง โดยได้ดำเนินการจัดตั้ง “หมู่บ้านป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยกองทุนแม่ของแผ่นดิน” แล้ว ( ผลดำเนินงาน ณ 25 มิ.ย 67) จำนวน 47,070 แห่ง จากหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 48,664 แห่ง และมีจำนวนสมาชิก 2,167,779 คน โดยมีจังหวัดที่ดำเนินการเต็มพื้นที่แล้ว จำนวน 60 จังหวัด” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า เพื่อให้การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังและเข้มข้น อันจะยังผลทำให้ทุกพื้นที่ ทุกตำบล ชุมชน หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านสีขาวปลอดยาเสพติด พร้อมขยายผลการดูแลป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของภาคประชาชน ในลักษณะจิตอาสา เกิดความเข้มแข็ง จึงต้องอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเฉพาะความร่วมมือจากผู้นำชุมชนร่วมกับทีมอำเภอ และ 7 ภาคีเครือข่ายตามแนวทางอำเภอบำบัดทุกข์บำรุงสุข และแนวทาง “โครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินการขับเคลื่อนการจัดตั้ง “หมู่บ้านป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยกองทุนแม่ของแผ่นดิน ตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย” ให้ครบทุกหมู่บ้านมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในระยะเร่งด่วน 3 เดือน เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567 โดยบูรณาการทุกภาคส่วน ดำเนินการ 7 แนวทาง ได้แก่ 1. การส่งเสริมการจัดกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินตามแนวทางการดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดิน เช่น การขยายผลรับสมัครสมาชิกกองทุนแม่ของแผ่นดิน การทอดผ้าป่า/จัดหาทุนเพิ่มให้กองทุนแม่ของแผ่นดิน การรับรอง/ขยายผล ครัวเรือนปลอดยาเสพติด การจัดสวัสดิการให้สมาชิกกองทุนแม่ของแผ่นดิน เช่น เด็กเกิด เจ็บป่วย เสียชีวิตทุนการศึกษา การศึกษาดูงาน/แลกเปลี่ยนเรียนรู้กองทุนแม่ของแผ่นดิน การจัดตั้ง Mobile Unit ในชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนแม่ของแผ่นดินและการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในวันสำคัญต่าง ๆ และการพัฒนาศูนย์เรียนรู้กองทุนแม่ของแผ่นดิน เป็นต้น

สำหรับ “แนวทางที่ 2” สร้างและพัฒนากลไกเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน อย่างเป็นระบบมอบหมายภารกิจอย่างชัดเจน โดยใช้แนวทาง 5 ก. คือ 1) กลุ่มสมาชิก ต้องมีสมาชิกกองทุนแม่ของแผ่นดินร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดิน อย่างน้อยร้อยละ 20 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 2) คณะกรรมการ หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน ต้องมีคณะกรรมการกองทุนแม่ของแผ่นดิน เพื่อบริหารจัดการกองทุนแม่ของแผ่นดิน จำนวนอย่างน้อย 10 คน/กองทุน 3) กฎระเบียบ/กติกา หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน ต้องมีระเบียบกองทุนแม่ของแผ่นดิน เพื่อควบคุมสมาชิกและคณะกรรมการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ให้มีความสัมพันธ์กันภายใต้แบบแผนและกฎเกณฑ์เดียวกัน เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการขับเคลื่อนและการบริหารจัดการ 4) กิจกรรม หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน ต้องมีกิจกรรมของกองทุนแม่ของแผ่นดิน จำนวนอย่างน้อย 5 กิจกรรม/หมู่บ้าน ภายใต้ 17 กิจกรรม กองทุนแม่ของแผ่นดิน เช่น ขยายผลรับสมาชิก,จัดหาทุนเพิ่ม,รับรองครัวเรือนปลอดภัย,จัดสวัสดิการ,ศึกษาดูงาน 5) กองทุน หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินต้องมีการระดมทุน/เงินเพื่อจัดตั้งกองทุนแม่ของแผ่นดิน และให้กองทุนมีความมั่นคงและยั่งยืน เพื่อใช้สำหรับดำเนินกิจกรรมของกองทุนแม่ของแผ่นดิน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ภายในหมู่บ้าน

“แนวทางที่ 3” ร่วมกับเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดิน สอดส่องดูแลหมู่บ้าน/ชุมชนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มเยาวชน และกลุ่มเสี่ยง คณะกรรมการและสมาชิกร่วมกันระบุผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ (ผู้เสพ ผู้ติด ผู้มีอาการทางจิต ผู้ที่มีภาวะเดือดร้อนจนเสี่ยงต่อการเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด) เพื่อช่วยกัน แก้ไข บำบัดฟื้นฟู ด้วยแนวทางสันติวิธี “แนวทางที่ 4” จัดหาเงินทุนศรัทธา และทุนปัญญาเพื่อจัดกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน ต้องมีการระดมทุน/เงิน ด้วยทุนศรัทธา และทุนปัญญา และให้กองทุนมีความมั่นคงและยั่งยืน เพื่อใช้สำหรับดำเนินกิจกรรมของกองทุนแม่ของแผ่นดิน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและปัญหาอื่น ๆ ภายในหมู่บ้าน “แนวทางที่ 5” พัฒนาศักยภาพคณะกรรมการฯ เพื่อเตรียมความพร้อมและยกระดับเป็นหมู่บ้านต้นกล้ากองทุนแม่ของแผ่นดินการคัดเลือกหมู่บ้าน/ชุมชน ที่จะเข้าเป็นหมู่บ้าน/ชุมชนกองทุนแม่ของแผ่นดิน ตามเกณฑ์ของ ปปส. จะต้องผ่านเกณฑ์การคัดเลือกระดับ A อย่างน้อย 7 ใน 12 ข้อ โดยมีเกณฑ์บังคับ 4 ข้อ ประกอบด้วยข้อ 7 8 9 และ 10 จึงจะมีคุณสมบัติครบถ้วนในการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านที่ได้รับพระราชทานเงินขวัญถุง จำนวน 8,000 บาท

“แนวทางที่ 6” สร้างเครือข่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยกองทุนแม่ของแผ่นดินเพื่อสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้านป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยกองทุนแม่ของแผ่นดิน สร้างและพัฒนา เครือข่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ระดับตำบล /อำเภอ /จังหวัด และ “แนวทางที่ 7” บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด การดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดิน ยึดการดำเนินการตามแนวทางสันติวิธี มีกิจกรรมสร้างพลังฝ่ายดี โดยกระบวนการรับรองครัวเรือน มีการติดตาม ช่วยเหลือผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง สนับสนุน ช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด ตามความสมัครใจ มีกิจกรรมส่งเสริมป้องกันเด็ก/เยาวชนในหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน ให้ปลอดภัยจากยาเสพติด จัดกิจกรรมในวันกองทุนแม่ของแผ่นดิน วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี จัดกิจกรรมในวันสำคัญ เช่น 12 สิงหาคม และ 5 ธันวาคม โดยกำหนดเดือนสิงหาคม เป็นเดือนที่มีการจัดมหกรรมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสนับสนุน ประสานความร่วมมืออย่างบูรณาการ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการขับเคลื่อนกองทุนแม่ของแผ่นดินให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจะสำเร็จได้ คนในชุมชนต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่นิ่งดูดาย และทำตัวเสมือนเป็นตาสับปะรด เพื่อให้คนในชุมชน ตลอดจนลูกหลานเยาวชนของเราได้อยู่อาศัยในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและสงบสุข สิ่งสำคัญของการที่ชุมชนจะเข้มแข็งคือการมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง มีการรวมกลุ่มอย่างเป็นระบบ คนในชุมชนร่วมกันคิดร่วมกันทำกิจกรรม มีจิตอาสา ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน เกิดความรักความสามัคคี ทำให้ห่างไกลจากยาเสพติด ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) โดยมีหมู่บ้านป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยกองทุนแม่ของแผ่นดิน ตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เป็นจุดเริ่มต้น เพราะจุดแตกหักอยู่ที่หมู่บ้าน จึงขอให้ทุกท่านช่วยกันสร้างความตระหนักและความตื่นตัวให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องปัญหายาเสพติดที่เป็นภัยอันตรายของชาติ ด้วยที่ทุกคนลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ดี “Change for Good” ทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพลเมืองดีของโลก ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมไทย หลอมรวมพลังแห่งความรู้รักสามัคคี ช่วยกันดูแลชุมชน หมู่บ้าน ปลอดจากยาเสพติด ด้วยการเชิญชวนทุกหมู่บ้านช่วยกันดำเนินการจัดตั้ง “หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน” อันเป็นการปฏิบัติบูชาเฉลิมพระเกียรติในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ด้วยการช่วยกันทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” สืบไป

กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ /2567
วันที่ 26 มิ.ย. 2567