ปลัด มท. สั่งการทุกจังหวัดให้ความสำคัญการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ทุกกิจกรรม ทุกพื้นที่ พร้อมพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูล ให้ทุกเรื่องให้เป็นชุดข้อมูลที่มีคุณภาพ One Data for One plan

ปลัด มท. สั่งการทุกจังหวัดให้ความสำคัญการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ทุกกิจกรรม ทุกพื้นที่ พร้อมพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูล ให้ทุกเรื่องให้เป็นชุดข้อมูลที่มีคุณภาพ One Data for One plan เพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน

วันนี้ (27 มิ.ย. 67) เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย อธิบดี หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าหน่วยงานส่วนกลาง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (VCS) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ร่วมรับฟังด้วย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในหลายประเด็นซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินโครงการ/กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน 4 โครงการ/กิจกรรม ได้แก่ การบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลฯ การจัดพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ โครงการ 10 คลองสวย น้ำใส คนไทยมีสุข เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และโครงการหลอมรวมใจมอบน้ำใสสะอาดให้โรงเรียน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้ให้ความสำคัญกับทุกโครงการ/กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ที่จัดขึ้นในพื้นที่อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องในทุกพื้นที่

“เรื่องสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับ “น้ำ” คือ คุณภาพของน้ำในแหล่งน้ำ มีการใช้กลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง พัฒนาฟื้นฟู และปรับภูมิทัศน์ของแหล่งน้ำให้มีความสะอาดและเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับคนในชุมชน พร้อมจัดการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการวัดค่าคุณภาพน้ำในพื้นที่ของชุมชน เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ค่ามาตรฐาน โดยการเชิญชวนจิตอาสา พี่น้องประชาชน เด็กนักเรียน และอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) เข้ามามีส่วนร่วม และให้ความรู้ ในลักษณะ “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์” ซึ่งอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการคำแนะนำ พัฒนาฟื้นฟูน้ำเสีย ทำหน้าที่เป็นผู้จัดกิจกรรมรณรงค์ ผู้สื่อข่าวประจำท้องถิ่น และเป็นผู้ประสานงานแจ้งเตือนข่าวเหตุภัยที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน ฟ้า อากาศ เพื่อคอยรายงานสถานการณ์ให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ได้เตรียมความพร้อมรับมือได้ การสร้างความตระหนักรู้และปลูกจิตสำนึกให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญทรัพยากรน้ำ ตามเจตนารมณ์การขับเคลื่อนวันดินโลก 2566 ด้วยแนวคิด ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุข อย่างยั่งยืน จะช่วยทำให้บ้านเมืองสะอาดน่าอยู่ และทำให้คนในชุมชนมีความรักใคร่สามัคคีกันอีกด้วย ซึ่งในหลายพื้นที่องค์การจัดการน้ำเสียได้มีกิจกรรมการรณรงค์ เผยแพร่องค์ความรู้การดูแลแหล่งน้ำให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ และควรจะเร่งขยายผลในวงกว้าง จะต้องมีการลงไปติดตามผล และจัดทำสรุปรายงานผลอย่างใกล้ชิดที่ต่อเนื่อง เพื่อสื่อสารขยายผลให้มีการจัดกิจกรรมดี ๆ ไปทั่วประเทศ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า สำหรับการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญที่ผ่านมาทุกภาคส่วนและภาคีเครือข่ายมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีหลายภาระงานที่ทุกกรม และรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จให้ได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เช่น นโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เเละการป้องกันและเเก้ไขปัญหายาเสพติด กรมการปกครองได้แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้ครบถ้วนตามจำนวนผู้ลงทะเบียน 100% แล้ว แต่การติดตามเจ้าหนี้ และลูกหนี้ ภายหลังการไกล่เกลี่ย จะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมให้ความรู้ในการจัดการการเงิน ออกห่างจากเรื่องอบายมุข พึ่งพาตนเอง มีวินัยทางการเงิน และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังพบว่ามีกลุ่มผู้เดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบยังคงค้างอยู่ จึงต้องเร่งสำรวจข้อมูล เพื่อจะได้กำหนดกรอบระยะเวลาและพิจารณาขยายผลการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ Phase 2 ต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป พร้อมทั้งกำหนดแผนบูรณาการให้ความช่วยเหลือในระยะยาวแก่ลูกหนี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เน้นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” หรือ “ทางนี้ผล ผู้คนรักกัน” ควบคู่ไปกับการพัฒนาอาชีพให้กับประชาชนสามารถทำงานในสิ่งที่รัก เกิดความตั้งใจและทำงานออกมาให้เกิดผลสำเร็จ สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืน เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างเหมาะสมกับฐานานุรูปแห่งตน

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า คนมหาดไทยจะต้องบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายสู่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอย่างมีคุณภาพ อาทิ การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กระทรวงมหาดไทยได้มุ่งแก้ไขปัญหาในมิติการปราบปรามผู้มีอิทธิพล การทำทะเบียนผู้ค้า ผู้เสพ ผู้ป่วย และผู้ผ่านการบำบัดรักษา การฝึกอาชีพ การติดตามใช้ชีวิต การรณรงค์ หน่วยงานเสริมพลัง กองทุนแม่แห่งแผ่นดิน หมู่บ้านคุณธรรม หมู่บ้านรักษาศีล 5 ฯลฯ ซึ่งหากมองให้เป็นเชิงระบบร้อยเรียงชุดข้อมูลจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และลำน้ำสาขาที่เชื่อมโยงด้วย การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างมีคุณภาพ โดยผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอทุกพื้นที่ต้องให้ความสำคัญเชิญชวนทุกภาคีเครือข่ายมาร่วมเอาจริงเอาจัง เพื่อเป้าหมายการสร้างหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ที่รวมทุกภารกิจไว้ในเป้าหมายเดียว โดยหลักคิดสำคัญ คือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ บนความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน ควบคู่กับมีความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ในบริบทเชิงพื้นที่จะค่อย ๆ ได้รับการแก้ไข โดยในวันที่ 1 ก.ค. 67 นี้ กรมการปกครอง และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด จะเริ่ม kick off การแก้ไขปัญหายาเสพติดพร้อมนำเสนอข้อมูลการดำเนินงาน (Feedback) การป้องกันและเเก้ไขปัญหายาเสพติดให้ ครม. รับทราบ ซึ่งมีประเด็นหลัก 2 ประเด็น คือ เครื่องมือ X-Ray ยาเสพติดในทุกเส้นทาง บนถนนทางหลวง การผลักดันการดำเนินคดียาเสพติด ด้วยการจัดตั้งศาลชำนัญพิเศษ เพื่อดำเนินคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติดโดยเฉพาะ เพื่อลดขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม และการจัดทำระบบติดตามผลการทำงานทางสารสนเทศในลักษณะ One Data เพื่อการวางแผนแบบ One plan ในด้านของการพัฒนาชุมชน และการสร้างความมั่นคงให้แก่หมู่บ้านยั่งยืน เป็นสิ่งที่กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการด้วยหลักการ “ผู้นำต้องทำก่อน” จึงต้องขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดใส่ใจการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการจัดทำข้อมูล จปฐ. ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความจำเป็น ในการเป็นตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและท่านนายอำเภอ ต้องช่วยกันกำกับการทำงานของผู้จัดเก็บข้อมูลให้มีความละเอียด ถูกต้อง และครบถ้วน รวมทั้งให้เร่งดำเนินการบูรณาการข้อมูลของหน่วยบริการประชาชนกับระบบ ThaID ของกรมการปกครอง อาทิ ระบบฐานข้อมูลของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การไฟฟ้าส่วนนครหลวง/ภูมิภาค และการประปานครหลวง/ภูมิภาค เพื่อให้เกิดการประสาน ความถูกต้องตรงกันของข้อมูลพื้นฐานของพี่น้องประชาชน และให้เกิดความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นไปด้วย

“นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาเครือข่าย กรมการปกครองจะได้รวบรวมรายชื่อพระภิกษุผู้รับผิดชอบประจำตำบล ที่จะเป็นผู้ดำเนินการประสานงานต่าง ๆ ในท้องถิ่น โดยให้ทุกพื้นที่ทุกวัดรายงานกลับมาไม่เกินวันที่ 15 ก.ค. 67 เพื่อที่จะได้รายงานผลให้มหาเถรสมาคมต่อไป และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ได้ให้ความสำคัญกับกิจกรรม และโครงการดี ๆ ต้องเน้นการสื่อสารงานกิจกรรม และผลลัพธ์ของโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ เช่น ผลลัพธ์และความสำเร็จของโครงการ โคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน ที่สามารถขยายผลมาสู่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถสร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับพี่น้องประชาชนในการต่อยอดสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและทำให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืนได้เป็นอย่างมาก โดยเราจะต้องสื่อสารเรื่องราวดี ๆ และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นให้กับผู้คนในสังคมได้รับรู้ โดยต้องขอความร่วมมือทางท่านพัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ ให้ทำงานด้วยจิตใจรุกรบ ทำงานด้วยแรงบันดาลใจ Passion ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และพัฒนา เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน เพราะเมื่อเรามีความตั้งใจในการทำงานที่เต็มเปี่ยมสุดท้ายผลตอบรับและภาพลักษณ์ที่ดีก็จะย้อนกลับมาที่ กระทรวงมหาดไทยไปด้วย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า เราทุกท่านในฐานะคนมหาดไทย จะต้องยึดหลักการทำงานเพื่อประโยชน์สังคมส่วนรวม มุ่ง Change for Good ในทุก ๆ เรื่อง ด้วยการ “แก้ไขในสิ่งผิด” เราสามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาแก่พี่น้องประชาชนได้ พึงจะต้องรีบเร่งดำเนินการทันที (Action now) โดยต้องฝากให้กับทาง ผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอซึ่งเปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีของพื้นที่ ได้ติดตามการดูแลในทุก ๆ เรื่อง ที่เกี่ยวกับพี่น้องประชาชน ตั้งเเต่ครรภ์มารดาจนถึง เชิงตะกอน ในเรื่องน้ำดื่มสะอาดของโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และขอให้ช่วยกันตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้า ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวะ ช่วยกันตรวจสอบการเดินสายไฟและการติดตั้งสายดินให้ถูกต้อง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นลูกหลานของพี่น้องประชาชน และขอให้ท่านผู้ว่าฯ ได้เอาใจใส่เป็นธุระจัดทำระบบฐานข้อมูล ครู ก. และครู ข. และการประชุมวางแผนขับเคลื่อน เพื่อเร่งรัดทุกภาคส่วนดำเนินการสนับสนุนให้ครู ก. และครู ข. ได้ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวชาติไทย และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชาติ โดยกระทรวงมหาดไทยจะได้ดำเนินการเปิดโครงการในวันที่ 2 ก.ค. 67 พร้อมกันทั่วประเทศ สุดท้ายนี้ ตนอยากให้ทุกท่านร่วมกันสร้างการมีส่วนร่วมในการแสดงความจงรักภักดีให้แก่พี่น้องประชาชน เชิญชวนประชาชนทำดีด้วยจิตอาสา ด้วยหัวใจ เพื่อร่วมกันถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้ทุกคนได้ ตื่นตัว ตื่นใจ ลงมือทำ อย่านิ่งนอนใจที่จะทำสิ่งที่ดีในทันที เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างสิ่งที่ดีให้แก่พี่น้องประชาชน โดยเราจะต้องลงพื้นที่ให้รองเท้าสึกก่อนก้นกางเกงขาด เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนให้สุดกำลังความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มพูนกำลังใจแก่พี่น้องประชาชนสืบไป สนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”