ปลัด มท. นำประชุมหารือเตรียมความพร้อมร่วมจัดงานแสดงนิทรรศการนานาชาติ SX 2024 น้นย้ำ เป็นโอกาสสำคัญของ มท. ที่จะแสดงความสำเร็จในการขับเคลื่อนตามเจตนารมณ์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย สู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ปลัด มท. นำประชุมหารือเตรียมความพร้อมร่วมจัดงานแสดงนิทรรศการนานาชาติ SX 2024 เน้นย้ำ เป็นโอกาสสำคัญของ มท. ที่จะแสดงความสำเร็จในการขับเคลื่อนตามเจตนารมณ์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย สู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

วันนี้ (28 มิ.ย. 67) เวลา 09.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือการจัดงานแสดงนิทรรศการนานาชาติ Sustainability Expo 2024 (SX 2024) ผ่านการประชุมระบบการประชุมทางไกล(Zoom Cloud Meeting) โดยมี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจ ด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นางภาวินี ไชยสิทธิ์ ผู้แทน คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน SX 2024 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้แทนจากส่วนราชการระดับกรมและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม War room ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมสำคัญ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีและถือเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสแสดงออกถึงการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ประชาชน และประเทศชาติของเรา โดยยึดมั่นในการทำงานภายใต้แนวคิด “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งในปีนี้เป็นการเข้าร่วมการจัดแสดงนิทรรศการ SX ครั้งที่ 3 ต่อเนื่องของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในแต่ละปีจะมีรูปแบบ หรือ ธีมที่แตกต่างกันออกไป โดยมีการนำเสนอผลลัพธ์ความสำเร็จที่เกิดจากการประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แนวพระราชดำริ และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ในการทำงาน หรือ หลักการ Sufficiency Economy Philosophy for Sustainable Development Goals : SEP for SDGs และหลักการทรงงานตามศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยกลไก 3 5 7 โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งทั้งสองปัจจัยต่างเกื้อกูลกัน เพราะการที่ประเทศชาติจะมั่นคงได้ต้องเกิดจาก คนในชาติ หรือ พี่น้องประชาชนที่มีความสุข ในขณะเดียวกันถ้าประเทศชาติมั่นคง ประชาชนแม้จะไม่ร่ำรวยก็จะมีโอกาสมีความมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนและมีความสุขได้ ดังนั้น “แก้ไขในสิ่งผิด” มีองค์ประกอบตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ นั่นคือ การทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน เพื่อสถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็น 3 เสาหลักที่จะทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคง อันจะนำไปสู่คนในชาติมีความสุข

“กระทรวงมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย มีแนวทางทำงานโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน คือ การ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ให้เกิดผลสำเร็จ จึงได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UN) เพื่อประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน โลกนี้เพื่อเรา” โดยมีผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งในปี 2024 นี้ เรามีแผนที่จะนำ SDGs 17 เป้าหมาย 165 ตัวชี้วัด นำเข้าสู่ระบบสารสนเทศ เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้ใช้ข้อมูลในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบรรณาการอย่างยั่งยืน “ในทุกมิติ” ถึงจะนำไปสู่การมีระบบฐานข้อมูล (Big data) ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกับองค์การสหประชาชาติ และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นพลเมืองดีของโลก เพื่อโลกใบเดียวนี้ของเรา” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปอีกว่า พวกเราชาวมหาดไทย และภาคีเครือข่าย ยังคงมุ่งมั่นในการ “Change for Good” ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นรากฐานแรกของ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย ไปสู่แนวทางในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวทาง “SEP for SDGs” ในประเทศไทยเกิดผลสำเร็จได้ดีมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เราทำเพียงแค่กระทรวงมหาดไทยไม่พอ เราจะต้องขับเคลื่อน ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคทำให้ดียิ่งขึ้น เพื่อพี่น้องประชาชนหมดความทุกข์ มีความสุข ซึ่งเราได้ดำเนินการขับเคลื่อนวางรากฐานแล้ว ผ่านมอบหมายให้กรมการปกครอง โดยกลไกของท่านนายอำเภอ พวกเราได้สำรวจและจัดเก็บข้อมูลตามฐานข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนในระบบ ThaiQM รายครัวเรือน รวมถึงได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ข้อมูล LPA หรือ ข้อมูลของการให้บริการของการไฟฟ้า และน้ำประปา เพื่อบูรณาการข้อมูล ประมวลให้เป็น “One Data for Development” เพื่อเป็นฐานข้อมูลใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในอนาคตจะได้นำข้อมูลของทั้งสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และ 6 กรม 6 รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มาบูรณาการรวมกันทำให้ฐานข้อมูลมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อจะทำงานเป็นทีม ตลอดจนแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน “One plan” จะเกิดขึ้นได้จะต้องมี “One Data”

“สำหรับการจัดแสดงนิทรรศการ Sustainability Expo (SX) ของกระทรวงมหาดไทย ในปี 2023 ที่ผ่านมา มท. มีการจัดแสดงนิทรรศการ 5 กิจกรรมหลัก คือ 1) บำบัดทุกข์ บำรุงสุข 2) ก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3) Think Global App Local 4) Action Now และ 5) มหาดไทยปันสุข โดยมีการถ่ายทอดสด Live Action นำเสนอ Best Practice อาทิ หมู่บ้านยั่งยืน ตำบลเข้มแข็ง อำเภออารยเกษตร โครงการเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ ซึ่งในปี 2024 นี้เรามุ่งหวังว่าจะจัดแสดงภารกิจของกระทรวงมหาดไทยที่ขับเคลื่อนและเกิดผลสำเร็จเพิ่มมากขึ้น เช่น ความสำเร็จของการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีในการจัดแสดงความสำเร็จของการจัดการขยะหรือการจัดการสิ่งแวดล้อมของกระทรวงมหาดไทย หรือ การนำเสนอตัวอย่างสำคัญของเงินรายได้ที่หมุนกลับไปสู่การพัฒนาท้องถิ่น อีกทั้งยังใช้โอกาสนี้เชิญชวนภาคีเครือข่ายเอกชนที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มาร่วมงาน SX ได้มาร่วมเป็น Partnership และได้เป็นลูกค้าของเรา ทำให้เป็นโอกาสของเราที่จะมี “activity” ที่สนุกและท้าทายเพิ่มมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งสำคัญเราจะทำอย่างไรในการขยายต่อยอดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรง สืบสาน “รักษา และต่อยอด” ในพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์ได้พระราชทานโครงการพระราชดำริมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นมีพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ “ประโยชน์ 2 ต่อ” คือเมื่อหน้าฝนต้องมีที่อยู่ให้น้ำ อาทิ หลุมขนมครก แก้มลิง เป็นต้น เราก็จะบรรเทาอุทกภัย และเมื่อหน้าแล้งเราก็จะมีน้ำใช้ จึงเป็นประโยชน์ 2 ต่อ ซึ่งเป็นตัวอย่างในการนำเสนอเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ต้องไม่ทอดทิ้งเรื่องของนวัตกรรมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ ซึ่งพวกเราทราบกันดีอยู่แล้วว่ากระทรวงมหาดไทยมีระบบฐานข้อมูล ทั้ง “ThaiQM” “ThaiD” หรือ “Click ชุมชน” ซึ่งระบบเหล่านี้จะเป็นงานบูรณาการเพื่อทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน หากเรานำมาจัดแสดงในรูปแบบ 3 มิติ (3D) ได้ก็จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ จัดให้มีการบริการเคลื่อนที่แบบ “Mobile Unit” จัดทำบัตรประชาชน งานทะเบียนต่าง ๆ รวมถึง บริการเชิงรุกเสมือนหน่วยเคลื่อนที่เร็วของกรมการปกครองในการเผยแพร่ทำให้คนที่มาร่วมงานได้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานผ่านระบบ “ThaiD” ถือว่าใช้โอกาสนี้เชิญชวนมาเป็นผู้ใช้บริการภาครัฐ ตลอดจนจะเป็นโอกาสดีที่จะได้เชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้เป็นลูกศิษย์ในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ให้ผู้ที่มาร่วมงานได้มีโอกาส มาศึกษา เรียนรู้เรื่องการย้อมผ้า ร่วมกันจัดแสดงงานหัตถศิลป์หัตถกรรมไทย เป็นต้น

“เราต้องมุ่งมั่น “เติมเต็ม” และ “สร้างการรับรู้” ให้กับพี่น้องประชาชน รวมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจ โดยมีวัตถุประสงค์ที่แน่วแน่ของคนมหาดไทยในการที่จะช่วยกันวางระบบการทำงานโดยยึดแกนหลัก คือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อันเป็นวัตถุประสงค์ของงาน SX โดยการจับมือภาคีเครือข่ายนำเอาสิ่งที่เราจะดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ การเติมเต็ม ต้องอาศัยหน่วยประชาสัมพันธ์ของทุกกรมและทุกรัฐวิสาหกิจช่วยกันจัดการประกวดจัดทำผลิตคลิปวิดีโอของคนที่มาร่วมงาน SX เป็นคลิปสั้นตามบูธนิทรรศการต่าง ๆ ไม่ได้เน้นเฉพาะของกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำไปเผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดีย และถือโอกาสนี้จัดประกวด การจัดทำคลิปไปด้วยโดยมีรางวัลที่น่าดึงดูดใจ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อสร้างความสนุกสร้างการเรียนรู้ได้อีกด้วย ที่ตนได้กล่าวเป็นคำแนะนำและข้อเสนอแนะ ให้กับพวกเราทุกคนได้ไปคิดต่อ เพื่อ “Change for Good” และ “Action Now” ทั้งนี้ การร่วมงานในครั้งนี้ขอให้พวกเราทำอย่างเต็มที่และเต็มใจที่จะเข้าร่วม อย่างคนที่มีจิตวิญญาณอยากจะทำงาน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อสนับสนุนที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญในการดำเนินการกระตุ้นให้กับสังคมให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามวัตถุประสงค์ของงาน SX หากเราร่วมอย่างมีจิตวิญญาณ ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องของภาคเอกชน รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่ได้จัดงานให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าร่วมต่อไป อีกทั้งจะได้เป็นประโยชน์ต่อสถาบันนักปกครอง ได้มีโอกาสสื่อสารให้กับสังคมได้รับรู้ถึงความตั้งใจจริงของพวกเราทุกคน ภายในงาน Sustainability Expo 2024 จะจัดขึ้น ระหว่าง 27 ก.ย. – 6 ต.ค. 67 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

นางภาวินี ไชยสิทธิ์ ผู้แทนคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน SX 2024 กล่าวว่า Sustainability Expo เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2020 มีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมมากมาย จึงขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่เป็นหน่วยงานภาครัฐภาคีเครือข่ายหลัก ควบคู่กับเอกชน ที่เข้าร่วมเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการจัดงาน Sustainability Expo 2024 มี Highlight Content มุ่งเน้นในการเป็น “International and Innovation การแปลงเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น” ภายใต้ แนวคิด “Good Balance Better World” เหมือนในปี 2023 โดยมี 5 เนื้อหาหลักสำคัญ 1) Prologue : People & Planet มุ่งเน้นโลกเปลี่ยนเราปรับ 2) Better me : Healthy and Happy Living มุ่งสู่สังคมผู้สูงอายุ มีสุขภาพที่ดี มีการศึกษา 3) Better Living : Climate Adaptation น้ำสะอาด พลังงานสะอาด มีความรับผิดชอบ 4) Better Community : Social Inclusion ขจัดความยากจนและความหิวโหย ความเท่าเทียม นวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐาน ลดความเหลื่อมล้ำ การมีส่วนร่วมของสังคม สำหรับการจัดแสดงนิทรรศการของกระทรวงมหาดไทยจะอยู่ที่จุดเดิมคือ ฮอล์ล 3 ซึ่งจะอยู่ใกล้กับบูธของ องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย เช่นเคย เพราะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน SDGs และมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน นอกจากนี้บูธโดยรอบ จะประกอบด้วย Asian Europe Oceania Pavilion ซึ่งทั้งหมดเป็น International ทั้งสิ้น