ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด ไม่รอช้า บูรณาการทุกภาคส่วน ปูพรมลงพื้นที่ตรวจสอบตู้กดน้ำดื่มทุกสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เน้นย้ำ เดินหน้ายกระดับความปลอดภัย

“เพื่อความปลอดภัยของลูกหลาน” ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด ไม่รอช้า บูรณาการทุกภาคส่วน ปูพรมลงพื้นที่ตรวจสอบตู้กดน้ำดื่มทุกสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เน้นย้ำ เดินหน้ายกระดับความปลอดภัยของนักเรียนในทุกพื้นที่ พร้อมกำชับโรงเรียนหมั่นตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าในโรงเรียนสม่ำเสมอ

วันนี้ (29 มิ.ย. 67) นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ว่า ตามที่นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย สั่งการให้จังหวัดทุกจังหวัดเร่งตรวจสอบคุณภาพและการติดตั้งตู้กดน้ำดื่ม รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในโรงเรียน เพื่อป้องกันการเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วไหลซึ่งเป็นเหตุอันก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของเด็กนักเรียนและบุคลากรในสถานศึกษา จังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้บูรณาการกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันอาชีวะ และภาคีเครื่อข่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมาตรฐานการติดตั้งตู้กดน้ำ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในโรงเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุที่อาจก่อให้เกิดอันตราย แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนอีก

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานศึกษา อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงพื้นที่ 9 อำเภอในจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อร่วมตรวจสอบเครื่องทำน้ำเย็นในสถานศึกษาในพื้นที่ โดยมีข้อกำหนดในการตรวจสอบ 1) ตรวจสอบอายุการใช้งานของเครื่องทำน้ำเย็นที่ติดตั้งอยู่หมดอายุแล้วหรือไม่ หากหมดอายุให้งดใช้ทันที 2) ต้องใช้เครื่องทำน้ำเย็น ที่ได้มาตรฐาน มอก. 3) ต้องมีการติดตั้งระบบตัดไฟอัตโนมัติในเครื่องทำน้ำเย็นทุกเครื่อง หากเกิดเหตุไฟฟ้าลัดวงจรเครื่อง Safety ที่ติดตั้งไว้จะทำการตัดไฟก่อน ทำให้ไม่เกิดไฟฟ้าลัดวงจร 4) มีการเชื่อมต่อสายดิน และ 5) ติดตั้งในบริเวณที่แห้ง ฝนสาดไม่ถึงและไม่ถูกแสงแดด

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามข้อสั่งการของนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดช่วยดำเนินการระดมสรรพกำลังในพื้นที่เข้าตรวจสอบสภาพตู้น้ำไฟฟ้าในโรงเรียนต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งาน ปลอดภัย และถูกสุขลักษณะ ป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับนักเรียน โดยขณะนี้ยังไม่พบตู้น้ำที่เกิดความชำรุดหรือไฟฟ้ารั่ว หลังจากนี้จังหวัดร้อยเอ็ด จะได้เร่งปูพรมให้มีการตรวจสอบให้แล้วเสร็จโดยและครบถ้วนทุกโรงเรียนและสถานศึกษาครบทุกแห่งต่อไป

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวต่ออีกว่า สำหรับตู้กดน้ำเย็นในโรงเรียน เป็นอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานที่ควรติดตั้งเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนทุกคนอย่างเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน ซึ่งสถานที่ตั้งควรอยู่ห่างจากบริเวณที่มีฝุ่นละออง แหล่งระบายน้ำเสีย และแหล่งขยะมูลฝอย ในส่วนการติดตั้งตู้กดน้ำเย็น ก็ต้องมีมาตรฐานในการติดตั้ง มีความมั่นคงแข็งแรง มีระบบป้องกันภัยจากกระแสไฟฟ้ารั่ว หรือ ลัดวงจร โดยการติดตั้งสายดินบริเวณพื้นที่ตั้งต้องไม่เป็นที่ที่มีน้ำขัง หรือ สกปรก ต้องมีการระบายน้ำที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน และมีการทำความสะอาดบริเวณที่ตั้งของตู้ทำน้ำเย็นเป็นประจำทุกวัน แท้งก์น้ำต้องมีการปกปิด หรือ มีฝาปิด เพื่อควบคุมป้องกันการปนเปื้อนจากแมลงและสัตว์พาหะนำโรค ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การตรวจเช็คสภาพอย่างเป็นประจำต่อเนื่อง มีปฏิทินในการตรวจเช็ค จากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ทั้งนี้ หากบุคลากรในโรงเรียนหรือสถานศึกษา สังเกตได้ว่าอาจมีการรั่วของไฟฟ้า ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า ให้มาตรวจสอบทันที โดยสามารถโทรสายด่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA 1129 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อลูกหลานของท่านอีก

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวในช่วงท้ายว่า จังหวัดร้อยเอ็ด ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเด็กนักเรียนและพี่น้องประชาชนทุกคน รวมถึงความสะอาดถูกสุขอนามัย รวมทั้งมีน้ำสะอาดดื่มได้ ซึ่งเป็น หนึ่งใน 11 นโยบายหลักของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีข้อสั่งการและเน้นย้ำเรื่องการมีน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียน โดยบูรณาการหน่วยงานในการปฏิบัติ อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดร้อยเอ็ด และการไฟฟ้าอำเภอทุกอำเภอ วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด สถานศึกษาในพื้นที่ อำเภอทุกอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการดำเนินนโยบายดังกล่าว ทั้งนี้ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้กำชับไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียน ขอให้ตรวจสอบสภาพการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ อยู่เสมอ สำหรับโรงเรียนใด ที่ยังไม่มีระบบตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือพบความชำรุดของสายไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ ขอให้เลิกใช้และรีบให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบโดยเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในโรงเรียน