ปลัด มท. ลงพื้นที่อุตรดิตถ์ มอบนโยบายการขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืน เน้นย้ำ คนมหาดไทยต้องทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปลัด มท. ลงพื้นที่อุตรดิตถ์ มอบนโยบายการขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืน เน้นย้ำ คนมหาดไทยต้องทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มุ่งมั่นตั้งใจทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้ (29 มิ.ย. 67) เวลา 11.00 น. ที่ห้องประชุมศิลาอาสน์ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในพื้นจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมี นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วย นายสหวิช อภิชัยวิศรุตกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นางสาวเพ็ชรินทร์ ปฐมวณิชกะ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดอุตรดิตถ์ หัวหน้าส่วนราชประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ นายอำเภอ 9 อำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ โอกาสนี้ นายขวัญทอง สอนศิริ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมลงพื้นที่ด้วย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พี่น้องชาวมหาดไทย และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ทุกท่านที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นในโอกาสมาตรวจราชการ และเป็นประธานเปิดงาน “นุ่งซิ่นกินทุเรียนหลงหลิน ยินยลตำนานรักเมืองลับแล” ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ในช่วงค่ำวันนี้ ซึ่งตนเคยได้มาเยือนที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยในการที่ติดตาม พลอากาศเอก คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คนที่ 43 ลงพื้นที่เหตุภัยพิบัติดินสไลด์ เมื่อปี พ.ศ. 2549 จึงนับเป็นโอกาสที่ดีอีกครั้งหนึ่งที่ได้มาเยือนที่นี่ เพราะจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นเมืองในอุดมคติของคนมหาดไทย ดังที่ท่านพัฒน์ บุณยรัตพันธุ์ อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 2 ได้เคยเขียนเผยแพร่ไว้ในหนังสือเล่มต่าง ๆ

“หน้าที่ที่สำคัญของพวกเราชาวมหาดไทย คือ การเป็น “ผู้นำ” ทั้งเป็นผู้นำการบูรณาการคน และบูรณาการงาน เพราะงานของทุกกระทรวง ทุกกรม ล้วนแต่เป็นงานของพวกเราชาวมหาดไทยแทบทั้งสิ้น เพราะทุกงานล้วนแต่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ที่หนีไม่พ้นหน้าที่ของข้าราชการมหาดไทย ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอ ดังนั้น ชาวราชสีห์ทุกคนต้องตระหนักอยู่เสมอว่า “เราคือข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ที่ต้อง “ทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ทำงานทั้งในหน้าที่และงานจิตอาสา เพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดประโยชน์สู่พี่น้องประชาชนโดยไม่ต้องมีใครสั่ง ดังที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรง “สืบสาน รักษา และต่อยอด” วิถีชีวิตอันดีงามของคนไทย ที่เป็นสังคมแห่งการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูล โดยทรงรื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของคนไทยในอดีตให้กลับคืนมา ส่งเสริมทำให้เกิดการรวมกลุ่มแบบจิตอาสา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ต้องส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มจิตอาสาแบบเราทำความ ดี ด้วยหัวใจ ที่มี DNA ของคนไทยในอดีต มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องแบบ รวมถึงต้องช่วยกันปลุกเร้าให้คนในพื้นที่ของเรามีความเสียสละและทำประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ เน้นย้ำว่า เรื่อง “จิตอาสา” เป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญที่กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นในการส่งเสริมทำให้เกิดจิตอาสา ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ตัวชี้วัดนำไปสู่การเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) ทั้งนี้ หมู่บ้านยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้นั้นขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ต้องมีใจ และมี “Passion” อันแกร่งกล้าในการทำหน้าที่ “ผู้นำ” ลงไปให้กำลังใจและให้คำแนะนำกับทีมในพื้นที่ เพื่อทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง ด้วยการสร้างทีมจังหวัด ทีมอำเภอบำบัดทุกข์บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ด้วยกลไก 7 ภาคีเครือข่าย อันได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน อันเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ยั่งยืน แต่แม่เหล็กที่สำคัญ คือ “ผู้นำ” ที่ต้องทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนแบบ “ผู้นำต้องทำก่อน” และ “ทำงานด้วยหัวใจ” เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาในทุกมิติ ทั้งเรื่องยาเสพติด ที่ต้องมีการทำงานเชิงระบบ มีทีมภาคีเครือข่ายในรูปแบบจิตอาสาที่หมู่บ้าน ช่วยกันส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่ม ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง รวมถึงการบำบัดฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ป่วยยาเสพติดเพื่อให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งเรามีผู้นำภาคศาสนา พระสงฆ์ประจำตำบลและข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบล คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) และกรรมการกลุ่มบ้าน คณะกรรมการคุ้มบ้าน ที่ต้องทำงานร่วมกันให้ชุมชนเข้มแข็ง ครอบครัวเข้มแข็ง ประชาชนเข้มแข็ง มีจิตใจที่รุกรบ มี Passion ที่จะทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพราะคำตอบของการพัฒนาทุกเรื่องอยู่ที่หมู่บ้าน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นผู้นำหนุนเสริมบทบาททีมบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ให้มีการทำงานเป็นระบบ อาทิ เรื่องยาเสพติด ที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุข ตำรวจ ทหาร ซึ่งจังหวัดอุตรดิตถ์ ต้องมีแผนงานที่ชัดเจนในการนำผู้ป่วยมาเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูได้ตลอดทั้ง 365 วัน เมื่อพบเจอแล้วสามารถนำเข้าสู่กระบวนการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ ดังนั้น ทีมภาคีเครือข่ายจึงต้องมีความเข้มแข็ง เกิดจากผู้นำที่เข้มแข็ง ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงต้องเป็นผู้นำที่มีทัศนคติ (Attitude) ที่ดี หากเรามีใจจะทำสิ่งที่ดีก็จะทำให้เกิดสิ่งที่ดี ดังปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพื่อเป้าหมาย “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่เป็นการขยายความพระปฐมบรมราชโองการ 4 พฤษภาคม 2562 ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” สู่การขยายผลปฏิบัติในทุกเวลานาที เราต้องไม่อายที่จะนำสิ่งที่ดีของจังหวัดอื่น ๆ นำ Best Practice ของพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติ คือ การลดรายจ่าย สร้างรายได้ ขยายโอกาส มีระบบการจัดทำฐานข้อมูลผู้ป่วยยาเสพติดจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ โรงพยาบาล ทัณฑสถานเรือนจำ และมีการอัพเดทปรับปรุงข้อมูลในทุกสัปดาห์ เพื่อผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีเครื่องมือที่เป็นระบบสารสนเทศในการขับเคลื่อนในภาพรวมของจังหวัดได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งขั้นตอนสำคัญที่จะนำมาซึ่งข้อมูล เราเรียกว่า การ Re X-ray ซึ่งข้อมูลสำคัญของปัญหายาเสพติดที่ต้องมีอย่างถูกต้อง คือ 1) ข้อมูลผู้ค้ารายย่อย 2) ผู้ป่วยติดยาเสพติด และ 3) ผู้มีอาการทางประสาท (จิตเภท) โดยเราต้องน้อมนำพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2543 ที่วัดถ้ำผาน้ำทิพย์ บ้านโคกกลาง ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด ความว่า “…ยาเสพติดนี้ทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ ปราศจากความคิดใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากจะทำไปเหมือนอย่างที่สัตว์ป่าทำ ทำไมเล่า เราถึงจะทำตัวเราให้ลดลงจากมนุษย์ผู้มีความเจริญลงไปเป็นสัตว์ป่า…” เพื่อเป็นหลักชัยทำให้พวกเราทุกคนมุ่งมั่นแก้ไขปัญหายาเสพติดให้หมดสิ้นไปอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยพสกนิกรคนไทย ที่อยู่ในสังคมที่มีความบอบบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหายาเสพติด จึงพระราชทานจัดตั้ง “กองทุนแม่ของแผ่นดิน” รณรงค์ส่งเสริมให้ชุมชนห่างไกลจากยาเสพติด ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นำหลักการและแนวทางการเป็นกองทุนแม่ของแผ่นดิน มาดำเนินการให้ครบในทุกหมู่บ้าน ภายใต้ชื่อ “กองทุนแม่ของแผ่นดิน ภาคประชาชนจิตอาสา” ครอบคลุมทั้งกว่า 80,000 หมู่บ้าน นอกจากนี้ พวกเราทุกคนต้องมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ทำงานทุกเรื่องให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ด้วยความตื่นตัว และตื่นรู้ อยู่ตลอดเวลา ด้วยหลักการที่ว่า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left Behind) ทำให้เกิดความเท่าเทียมและความยั่งยืน สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่ง (SDGs) และในเชิงคุณภาพ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอต้องช่วยกันนำเครื่องมือที่ดีเหล่านี้ ไปขับเคลื่อนผ่านข้าราชการและทีมผู้รับผิดชอบประจำตำบล ผู้นำชุมชน ตลอดจน 7 ภาคีเครือข่าย ในการกระตุ้นพวกเรา ทำให้เกิดผู้นำที่เปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีของพื้นที่ให้ได้ โดยมีทีมตำบลบำบัดทุกข์บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนที่เปรียบเสมือน “คณะรัฐมนตรีประจำตำบล” ขับเคลื่อนงานร่วมกัน ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเชิงระบบ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” ร่วมกันขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย 165 ตัวชี้วัด

“ในฐานะข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข จะเกิดผลดีอย่างยั่งยืนได้ ต้องน้อมนำแนวพระราชดำริและพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นกรอบในการทำงาน โดยไม่คิดว่าเป็นหน้าที่การทำงานตามกฎหมายเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีเป้าหมายอยากให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ซึ่งทั้ง 2 สิ่งจะมั่นคงได้ เราต้องหนุนเสริมให้ประชาชนคนไทยทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ได้มีความรู้ความเข้าใจและร่วมกันธำรงรักษาไว้ซึ่ง 3 สถาบันหลักของชาติ อันประกอบด้วยสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ 3 สถาบันหลักของเราที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยการส่งเสริมให้ความรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำให้เด็กและเยาวชนได้เกิดความภาคภูมิใจ ได้รู้จักความเป็นชาติ ผ่านธงไตรรงค์ 3 สี ว่า สีแดงคือเลือดเนื้อของบรรพบุรุษที่เสียสละเลือดทาแผ่นดิน นำมาซึ่งเอกราชของเรา เช่นเดียวกันกับทำให้สถาบันศาสนา (สีขาว) มีความเข้มแข็ง ควบคู่กับการทำให้คนในสังคมมีวัตรปฏิบัติ น้อมนำมาปฏิบัติเป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของหมู่บ้านยั่งยืนในการสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม โดยทำให้คนรู้จักสวดมนต์ไหว้พระก่อนนอน อันจะทำให้คนมีจิตใจดีงามอ่อนโยน และที่สำคัญคือสถาบันพระมหากษัตริย์ (สีน้ำเงิน) ที่เราชาวมหาดไทยทุกคนร่วมกันขับเคลื่อนโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่ทุกท่านในที่นี้มีหน้าที่ต้องช่วยกัน “แก้ไขในสิ่งผิด” ช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ให้กับพี่น้องประชาชน ช่วยกันทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ด้วยความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ใช้เวลาทุกนาทีไตร่ตรองและทำให้เกิดการ “Change for Good” ให้กับบ้านเมือง ให้กับจังหวัด ให้กับประเทศชาติของเรา เพื่อเราจะได้ไม่ต้องเสียดายภายหลังจากต้องพ้นจากราชการด้วยการเกษียณอายุราชการไปแล้วว่า เมื่อครั้งอยู่ในราชการทำไมเราถึงไม่ทำ และท้ายที่สุดนี้ แม้ว่าในอนาคตภายหน้าทุกคนจะต้องเกษียณอายุราชการ แต่เราต้องไม่เกษียณจากการทำความดีให้กับแผ่นดินไทยของพวกเราทุกคน เพื่อทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย