ปลัด มท. เปิดกิจกรรม “นุ่งซิ่น กินทุเรียนหลงหลิน ยินยลตำนานรักเมืองลับแล” ชื่นชมความมุ่งมั่นตั้งใจของ “ครูโจ – จงจรูญ มะโนคำ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล” ในการน้อมนำพระราชปณิธาน

ปลัด มท. เปิดกิจกรรม “นุ่งซิ่น กินทุเรียนหลงหลิน ยินยลตำนานรักเมืองลับแล” ชื่นชมความมุ่งมั่นตั้งใจของ “ครูโจ – จงจรูญ มะโนคำ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล” ในการน้อมนำพระราชปณิธานสืบสาน รักษา และต่อยอด สู่การรักษาภูมิปัญญาและส่งต่อสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อธำรงรักษาอัตลักษณ์ผืนผ้าจกลับแลที่มีความโดดเด่นให้คงอยู่ตลอดไป

วันนี้ (29 มิ.ย. 67) เวลา 19.00 น. ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม “นุ่งซิ่น กินทุเรียนหลงหลิน ยินยลตำนานรักเมืองลับแล” ประจำปี 2567 โดยมี อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นายสหวิช อภิชัยวิศรุตกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน นางสาวเพ็ชรินทร์ ปฐมวณิชกะ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดอุตรดิตถ์ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้แทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ภาคีเครือข่าย และนักท่องเที่ยว ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก


โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ เยี่ยมชมนิทรรศการผ้าอัตลักษณ์ท้องถิ่นจังหวัดอุตรดิตถ์ และเครือข่ายศิลปิน OTOP เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 อาทิ ณกรณ์ ตั้งหลัก รองประธานเครือข่ายโอทอป จ.มหาสารคาม เฟิร์ส ผ้าไหมแต้มตะกอ จ.อุทัยธานี อู๊ด-อนัญญา เค้าโนนกอก วิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ อู๋ ไหมไทย จ.ลำพูน อ๋อย ขวัญตา จ.หนองบัวลำภู หญิง – จีรนันต์ผ้าทอน้ำอ่าง จ.อุตรดิตถ์ กลุ่มใต้ตำหนัก จ.สกลนคร และรับชมการแสดงวัฒนธรรมพื้นเมืองล้านนา การแสดงเดินแบบผ้าซิ่นตีนจกไท – ยวน ลับแล คอลเลคชั่นใหม่ การแสดงเดินแบบผ้าซิ่นตีนจกจากนางแบบกิตติมศักดิ์ การแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนา และการเปิดตัวลวดลายผ้า Collection ใหม่ ผลงานโดยคุณจงจรูญ มะโนคำ (ครูโจ) ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอชื่นชมยินดีในการจัดงานกิจกรรม “นุ่งซิ่น กินทุเรียนหลงหลิน ยินยลตำนานรักเมืองลับแล” ประจำปี 2567 ซึ่งได้ทราบว่าเป็นการจัดงานเป็นปีที่ 4 ภายใต้แนวคิดที่สร้างสรรค์ของ ครูโจ – จงจรูญ มะโนคำ ผู้นำการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอด ศิลปวัฒนธรรมไท-ยวนในทุกด้าน ให้ดำรงคงอยู่คู่กับจังหวัดอุตรดิตถ์และประเทศไทย ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานควบคู่ไปกับการสร้างศิลปินคนรุ่นต่อไปให้มีองค์ความรู้เพื่อประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“ตน และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย มีความตั้งใจที่จะเดินทางมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจพี่น้องผู้ประกอบการ OTOP ผู้รักษาศิลปวัฒนธรรม งานหัตถศิลป์ หัตถกรรม ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ในหลายโอกาส และได้ให้กำลังใจ ชื่นชมผลงานมาอย่างต่อเนื่อง เพราะพี่น้องศิลปิน OTOP ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นตัวอย่างที่สำคัญของผู้ที่น้อมนำพระราชปณิธานมาสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างสรรค์ผลงานจนยังผลให้มีความสุขกาย สบายใจ ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เพราะในโลกนี้ ไม่มีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินประเทศไหน ที่จะพระราชทานแนวพระราชดำริ พระดำริ มาทำให้พสกนิกรได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านงานหัตถศิลป์ หัตถกรรม พวกเราได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแบบลายผ้าให้ช่างทอผ้าทั่วประเทศได้ผลิตชิ้นงานจำหน่ายสร้างรายได้ มี “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เป็นลายแรก มาชุบชีวิตคนทอผ้าในยามวิกฤตโควิด-19 และเกิดประโยชน์กับทุกคนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังได้พระราชทานแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ทำให้เกิดการผ่าทางตันวงการผ้าไทย จากเคยมีลวดลายและรูปแบบที่เป็นทางการ และต้องสวมใส่เฉพาะงานพิธีการเท่านั้น กลายเป็นผ้าไทยที่มีลวดลาย มีสีสัน มีรูปแบบลักษณะที่สอดรับกับความนิยมชมชอบ ตลอดจนแฟชั่นนิยมของประชาชนทุกช่วงวัย อีกทั้งยังทรงมีพระดำริ “Sustainable Fashion” ด้วยเพราะพระองค์ทรงห่วงใยต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงอันตรายอันเกิดจากสีเคมี จึงพระราชทาน แนวทางส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้ปลูกต้นไม้ให้สีธรรมชาติ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และมีการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบภายในประเทศจนเกิดเป็นศูนย์วัสดุไหมพื้นบ้านปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา และผ้าไทยจากสีธรรมชาติและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้รับรองกระบวนการผลิตที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเสียสู่ชั้นบรรยากาศ ที่เราเรียกว่า “คาร์บอนฟุตปริ้นของผ้าไทย” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่จะช่วยเป็นยาบำรุงกำลัง ถวายเป็นพระกำลังใจให้กับพระองค์ท่าน และเป็นครั้งแรกที่ผืนผ้าไทยได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นสากลอีกลักษณะหนึ่ง สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ทำให้พี่น้องคนไทยได้คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน มีความมั่นคงในชีวิต ซึ่งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มก็ถือเป็นหนึ่งในความมั่นคงของชีวิต” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชดำริด้านงานหัตถศิลป์ หัตถกรรมของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการที่พระองค์ท่านทรงเข้าไปหยิบยื่นช่วยเหลือเอาสิ่งที่ดีมาให้พวกเรา ทำให้เกิดรายได้จากผ้าไทยจาก 300 ล้านบาท ในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 80,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ได้นอกจากความรู้ และรายได้ คือ การกระตุ้นทำให้สังคมเกิดการขับเคลื่อนการสวมใส่ผ้าไทย ด้วยการนำเทคนิคสี การออกแบบตัดเย็บ ความรู้ในสิ่งที่ดีจากพระองค์ท่านผ่านคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก มาต่อยอดพัฒนาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดความมั่นคงของประเทศ ด้วยผ้าไทย และอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ พระองค์ทรงแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ และดีไซเนอร์ชั้นนำแนวหน้าของประเทศเป็นคณะที่ปรึกษาผ้าไทยใส่ให้สนุกลงพื้นที่ไปถ่ายทอดความรู้ให้กับศิลปิน OTOP ทำให้ได้มีความรู้ไปออกแบบตัดเย็บ พัฒนาผลงาน พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ช่วยกัน Change for Good ให้กับผ้าไทย อันเปรียบประดุจเราย้อนไปเมื่อ 50 ปีก่อน ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานให้คณะทำงานลงไปพัฒนาประชาชนในถิ่นชนบท จนเกิดผลงานศิลป์รวบรวมเป็นผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ จวบจนถึงปัจจุบัน

“งานในวันนี้ เกิดจากการบูรณาการภายใต้การร่วมสนับสนุนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ได้นำพากลไกที่สำคัญที่สุดมาร่วมในงาน นั่นคือ “การเชิญชวนนักท่องเที่ยว” มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่อำเภอลับแลแห่งนี้ จากปีที่แล้ว 20 คน ปีนี้ 40 คน และปีต่อ ๆ ไปก็จะเพิ่มมากขึ้น ๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวทุกท่าน ถือว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญที่สุด เพราะการที่ท่านมาเยี่ยม มาเที่ยว มาชิม มาชม มาช็อป ที่อำเภอลับแล ท่านถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่อำเภอลับแล ได้ร่วมหนุนเสริมถ่ายทอดให้วัฒนธรรมทอผ้าไท-ยวนได้ยังคงมีชีวิตต่อไปชั่วลูกชั่วหลานอย่างยั่งยืนด้วยการ 1) คิดลวดลายใหม่ ๆ 2) ใช้วัสดุธรรมชาติ สีธรรมชาติ และ 3) ออกแบบตัดเย็บให้ถูกอกถูกใจคนทุกเพศทุกวัยตลอดไป และการช่วยกันอุดหนุนผ้าไทยทุกผืน ทุกชนิดนั้น จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนายกระดับชีวิตพี่น้องคนไทยอีกเป็นล้าน ๆ ครอบครัว และช่วยทำให้เกิดความมั่นคง ความยั่งยืน ของ 1 ในปัจจัย 4 คือ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านได้ร่วมกันส่งต่อความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษผู้ริเริ่มภูมิปัญญาการถักทอผ้า ให้ลูกหลาน ได้ภาคภูมิใจและร่วมแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ผ่านการทอผ้าและสร้างสรรค์งานผ้าไทยให้คงอยู่คู่กับโลกใบเดียวนี้อย่างยั่งยืนตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นเมืองหลากวัฒนธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมล้านนา ล้านช้าง และสยาม โดยแต่ละอำเภอมีรูปแบบวัฒนธรรมแตกต่างกัน ผ้าที่เกิดขึ้นของอุตรดิตถ์ มีทั้งผ้าลายขิด ผ้ายก ผ้ามัดย้อม โดยจังหวัดได้ทำการส่งเสริมกลุ่มต่าง ๆ พัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยเพราะ ผ้าเป็นศิลปะ เป็นภูมิปัญญาที่แสดงถึงความมีสุนทรียะทางอารมณ์ในการสร้างสรรค์งาน และยังมี “ทุเรียนหลงหลิน” ที่ขึ้นชื่อเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ซึ่งทุเรียนหลงหลินเป็นทุเรียนที่มีเอกลักษณ์ เป็นที่ติดอกติดใจ ซึ่งทุกท่านที่ยังไม่มีโอกาสได้ชิมจะต้องลองชิม

“การจัดงานกิจกรรม “นุ่งซิ่น กินทุเรียนหลงหลิน ยินยลตำนานรักเมืองลับแล” ประจำปี 2567 ในครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ซึ่งจังหวัดอุตรดิตถ์ แม้จะเป็นเมืองที่มีเขื่อนสิริกิติ์ แต่จริง ๆ แล้ว เรามีหลากหลายผลิตภัณฑ์ ด้านการเกษตร คือ ทุเรียน ฝรั่งไส้แดง และข้าว ที่ถูกส่งเสริมให้เป็น Soft Power ของจังหวัด และกิจกรรม “นุ่งซิ่น กินทุเรียนหลงหลิน ยินยลตำนานรักเมืองลับแล” ครั้งนี้ แสดงให้เห็นศักยภาพของจังหวัดอุตรดิตถ์ว่า แม้จะเป็นเมืองรอง แต่ก็ไม่เป็นรองใคร และเราจะมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานด้านหัตถศิลป์ หัตถกรรม ให้ขจรขจายเพิ่มพูนคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์จังหวัดอุตรดิตถ์มากขึ้น ๆ ต่อไป” นายศิริวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับพิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวน ลับแล ก่อตั้งขึ้นโดย คุณจงจรูญ มะโนคำ (ครูโจ) ผู้ซึ่งชื่นชอบผ้าทอพื้นเมือง ด้วยเพราะครอบครัวเป็นครอบครัวทอผ้า ส่งผลทำให้เมื่อโตขึ้น จึงเก็บหอมรอมริบสะสมผ้าเก่าที่ตนเองชื่นชอบมาแต่เด็ก และมารวมกลุ่มคนในชุมชน คือ “กลุ่มทอผ้าบ้านคุ้ม-บ้านนาทะเล” ขึ้น ในปี 2545 และโดยครูโจทำหน้าที่เป็นผู้ที่ออกแบบสีและลวดลายผ้าให้ช่างทอในกลุ่มเป็นผู้ทอ เน้นลายตีนจกและวิธีทอแบบโบราณของเมืองลับแล จนกลายเป็นสินค้า OTOP ชื่อดังของจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับรางวัลพระราชทานและรางวัลจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์ได้มีการจัดแสดงผ้าซิ่นตีนจกที่มีความเก่าแก่ มีอายุมากกว่าร้อยปี และจัดแสดงผลงานของกลุ่มทอผ้าซิ่นตีนจกบ้านคุ้มอีกหลายรายการ