ปลัด มท. ร่วมกับ ผอ.ศอญ.จอส.พระราชทาน เปิดโครงการขยายผลวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับอำเภอและระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ครู ข)

ปลัด มท. ร่วมกับ ผอ.ศอญ.จอส.พระราชทาน เปิดโครงการขยายผลวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับอำเภอและระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ครู ข) เน้นย้ำ ร่วมกันทำหน้าที่เป็นทหารเสือพระราชา ด้วยการแก้ไขในสิ่งผิด ช่วยกันถ่ายทอดความดีงามของไทย เพื่อความภาคภูมิใจและเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบัน ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยังผลให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” อย่างยั่งยืน

วันนี้ (2 ก.ค. 67) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย พลเรือเอก คณีพล สงเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน เป็นประธานพิธีเปิดโครงการขยายผลวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับอำเภอและระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ครู ข) โดยมี นายราชัน ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พลตรี วรยส เหลืองสุวรรณ รองแม่ทัพภาคที่ 1 พลตรี ณัฐเดช จันทรางศุ รองแม่ทัพน้อยที่ 1 นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกองเอก ธารณา คชเสนี (ครูป๊อด) นายหมวดตรี น้ำเพ็ชร คชเสนี สัตยารักษ์ (ครูปั๊ม) ดร.ลักษิกา เจริญศรี (ครูป้ายู) วิทยากรโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน ผู้แทนส่วนราชการระดับกรม รัฐวิสาหกิจ ร่วมในพิธี โดยผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และผู้เข้าร่วมโครงการฯ 12,442 คน ร่วมรับชมและรับฟังผ่านการถ่ายทอดสดทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน น้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ที่ได้พระราชทานโครงการพระราชดำริ นั่นคือ “โครงการจิตอาสาพระราชทาน” อันมีคำขวัญว่า “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” จึงถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่พวกเราทุกคน ผู้ซึ่งเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพสกนิกรที่ดีของพระองค์ท่าน จะได้ทำหน้าที่เป็น “ทหารเสือของพระราชา” ด้วยการเป็นจิตอาสาบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ผ่านโครงการขยายผลวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับอำเภอและระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ครู ข) ซึ่งมีพี่น้องทหารเสือของพระราชาที่เป็นครู ข รวมทั้งโครงการฯ จำนวน 12,442 ท่าน ซึ่งสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้ เป็นการน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทาน เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 62 ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ด้วยการน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการส่งเสริมให้ประชาชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย มาเป็นหลักชัยในการมุ่งมั่นพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เพื่อไปขยายผลให้กับประชาชนทุกคน อันจะช่วยทำให้เกิดสิ่งที่ดีเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศชาติและความสุขของพี่น้องประชาชนคนไทย ผ่านการผลักดันขับเคลื่อนทำให้ผู้คนในทุกพื้นที่ได้รู้จักที่มา ที่ไป รู้รากเหง้าความเป็นไทย ซึ่งเป็นสิ่งดีงามที่ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษของเรา เช่นเดียวกันกับการรู้ว่าประเทศชาติและผืนแผ่นดินที่เราอาศัยนี้ตกทอดมาสู่เราได้อย่างไร ก็เพราะความเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตของคนรุ่นก่อน จนนำมาซึ่งเอกราชและความอุดมสมบูรณ์ที่ทั่วโลกรู้จักประเทศไทยในนามว่า “สุวรรณภูมิ” และถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราวความเป็นชาติ ส่งต่อสิ่งดี ๆ ไปสู่ลูกหลานเยาวชนคนรุ่นหลัง และทำให้บนโลกใบเดียวนี้ “ยังคงมีแผนที่ของประเทศไทยอยู่”

“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ต่อมหาสมาคม เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ความตอนหนึ่งว่า “เพราะเราจะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ที่บรรพบุรุษของเราสละชีวิตมาเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาด้วยเลือดเนื้อ ด้วยชีวิต แต่เสียดาย …ไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วนะ…ตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิส แต่เมืองไทยนี่ บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดิน กว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่ นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติ เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์…อย่างที่อเมริกาถามไปเขาก็สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหน เขาก็สอน แต่ประเทศไทยไม่มี ไม่ทราบว่าแผ่นดินนี้ รอดไปอยู่จนบัดนี้เพราะใคร หรือว่ายังไงกัน…” ซึ่งพระองค์แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านสีพระพักตร์ที่ทรงห่วงใย และมีพระราชประสงค์อยาก “แก้ไขในสิ่งผิด” ในเรื่องการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่สะท้อนให้เห็นว่าทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญ เพราะการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติจะมีผลต่อความมั่นคงของชาติ ดังเช่นคนต่างชาติที่ต้องการเป็นประชาชนสัญชาติอเมริกัน ต้องผ่านการสอบวิชาประวัติศาสตร์อเมริกาถึง 2 วิชา” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 63 อันเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ขยายความพระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งพระองค์มุ่งมั่นและแน่วแน่ โดยการให้พวกเราทุกคนช่วยกันทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และต่อมาได้มีพระราชดำรัสขยายความคำว่า “ประวัติศาสตร์” พระราชทานแก่เยาวชนโครงการค่ายผู้นำเยาวชนจิตอาสา หลักสูตรการฝึกปฏิบัติและดูงานเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ รุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563 ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ประเทศชาติก็คือบ้าน แบ่งเป็นพื้นที่ต่าง ๆ สังคมต่าง ๆ ก็ลงมาอยู่ที่พื้นฐานก็คือครอบครัวและลงมาอยู่ที่ตนเอง บ้านเมืองของเรา ประเทศของเรา หรือบ้านหรือครอบครัวของเราเนี่ย จะมีความสุขปลอดภัย น่าอยู่ สบาย มันก็ขึ้นกับคนรุ่นเราในอนาคต…แต่ที่สำคัญ คือ เราต้องเอาบทเรียนมาใช้……ถ้าเราอยากเรียนลัด ก็ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาให้มาก ว่าสมัยก่อนมันเป็นอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้มันเป็นอย่างนั้น แล้วปัจจุบันเราจะทำอย่างไรให้เรามีความรู้ มีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่จะรักษาประเทศชาติบ้านเมือง อย่างน้อยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นกำลังใจให้…”

“ขอให้พี่น้อง “ครู ก” และ “ครู ข” ตลอดจนผู้บริหารส่วนราชการ และภาคีเครือข่าย ได้โปรดน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม นำเอาพระราชดำรัสองค์สำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ให้ มาเป็นกำลังใจในการเดินหน้าช่วยทำให้พี่น้องคนไทยทุกเพศทุกวัยในทุกจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ได้มีโอกาสได้รับรู้รับทราบและเข้าใจความสำคัญของความเป็นชาติผ่านการซึมซับเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยที่บรรพบุรุษของพวกเราได้สละเลือดเนื้อ ชีวิต เลือดทาผืนแผ่นดินจนมีประเทศไทยให้พวกเราได้มีชีวิต มีลมหายใจในการประกอบสัมมาชีพหาเลี้ยงตนเอง ครอบครัว เพื่อจะหนุนนำให้พลังแห่งความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ ได้เป็นเครื่องหล่อหลอมให้ประเทศของพวกเรามีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข และมีความอยู่ดีกินดี ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉกเช่นในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งพระองค์ท่านทรงเป็นต้นแบบในการทำสิ่งที่ถูกต้องให้กับประเทศชาติ โดยมีวิธีการคือ “แก้ไขในสิ่งผิด” เพื่อรื้อฟื้นสิ่งที่สังคมไทยเคยอยู่อย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความรักสามัคคี ช่วยเหลือจุนเจือกันและกัน ใครมาประสบพบเจอก็จะได้เห็นแต่ “รอยยิ้มแห่งสยาม” ทั้งนี้ ในด้านวิทยากร กระทรวงมหาดไทย ได้รับความกรุณาจาก ศอญ.จอส. สนับสนุนอนุเคราะห์ให้ “ครูป๊อด ครูปั๊ม และครูป้ายู” ร่วมเป็นวิทยากรสร้างทหารเสือของพระราชาจากจิตอาสา 7 ภาคีเครือข่าย ทั้งพระสงฆ์องค์เจ้า ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ตลอดจนผู้เป็นข้าราชการบำนาญ และเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมจำนวน 2,118 ท่าน ที่ผ่านการฝึกอบรมครู ก. เพื่อร่วมกันผลักดันขยายผลองค์ความรู้ประวัติศาสตร์หนุนเสริมให้ประเทศชาติมีความวัฒนาสถาวรที่เพิ่มพูน ดังพระคาถาใต้ “ตราแผ่นดิน” ที่ว่า “สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา” ซึ่งมีความหมายว่า “ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ยังความเจริญวัฒนาถาวรให้สำเร็จ” ด้วยการเสริมสร้างความพร้อมเพรียงของพวกเราทุกคนผู้เป็นทหารเสือของพระราชา ไปถ่ายทอดประวัติศาสตร์ไทยเพื่อยังความเจริญวัฒนาสถาวรให้กับประเทศชาติและประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พวกเราทุกคนต้องเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ด้วยการตั้งใจเรียนรู้และนำองค์ความรู้ไปบอกเล่าขยายผลในทุกโอกาสที่ดีของชีวิต ทั้งการประชุมของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน โดยที่ผ่านมาพวกเราครูจิตอาสาที่ผ่านการอบรมได้ช่วยกันถ่ายทอดในเบื้องต้นอย่างขันแข็ง แต่การทำจะทำให้ยั่งยืนได้ต้องมี “ครู ข” ช่วยขยายผลให้ครอบคลุม ต่อเนื่อง ซึ่งหากเรามุ่งมั่นตั้งใจลงไปพูดคุยบอกเล่าเรื่องของชาติบ้านเมือง ตลอดจนเรื่องราวของบรรพบุรุษให้กับลูกหลานหรือคนที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน ก็จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เกิดความกตัญญูกตเวที เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ สอดคล้องกับพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2550 ความว่า “…ไทยเรารักษาเอกราชและผืนแผ่นดินให้มั่นคงเป็นปึกแผ่นมาได้ ก็เพราะเราทุกคนมีความสำนึก ตระหนักในความเป็นไทยและหน้าที่ที่จะธำรงรักษาชาติ ประเทศไว้ให้เป็นอิสระ มั่นคง…จึงขอให้…ชาวไทยทุกคน ทุกหมู่ทุกเหล่า ได้พิจารณาตัดสินใจว่า ประเทศชาติของเรานั้นสำคัญ ควรที่เราจะรักษาไว้ให้ยั่งยืนต่อไปหรือไม่ ถ้าเห็นว่าสำคัญ มั่นใจ ก็ขอให้สังวรระวังกายใจให้ตั้งมั่นอยู่ในความสัตย์ สุจริต พยายามลดอคติ และสร้างเสริมความเมตตา สามัคคีในกันและกัน ไม่ว่าจะทำการสิ่งใด ให้ยึดเอาความมั่นคงปลอดภัยของชาติเป็นที่หมายสูงสุด…” สะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ทรงเตือนสติและทรงสอนอย่างเน้นย้ำว่า ประเทศของเรามีความสำคัญ ซึ่งการที่จะรักษาให้มั่นคงยั่งยืนต่อไปได้หรือไม่นั้น คำตอบคือ เราทุกคนจำเป็นต้องทำ ภายใต้หลักการทรงงานแบบ “บวร” หรือ 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อให้สิ่งที่เรากำลังมุ่งมั่นตั้งใจประสบความสำเร็จ ด้วยการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในชุมชน/หมู่บ้านและท้องถิ่นของพวกเราผ่านสื่อและวิธีการที่พวกเราสามารถช่วยกันทำได้ด้วยตัวเราเอง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดให้การสนับสนุน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ครู ก และครู ข จะร่วมกันต่อยอดขยายผลองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยไปยังพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า เพื่อร่วมกันภาคภูมิใจในความเป็นไทย โดยกระทรวงมหาดไทยจะสนับสนุนบทบาทของพวกเราทุกคนเพื่อขับเคลื่อนภารกิจของเราให้บรรลุผลได้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่ความสำเร็จในการ “ทำความ ดี ด้วยหัวใจ” อย่างยั่งยืน ด้วยหัวใจแห่งความจงรักภักดีที่พร้อมในการสละเวลา กำลังกาย กำลังสติปัญญา เพื่อรักษาเอกราชของชาติไทย หลอมรวมดวงใจของคนในชาติด้วยประวัติศาสตร์ชาติไทย ทำให้ประเทศชาติของเรามีความมั่นคง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน “เป็นทหารเสือพระราชา เป็นจิตอาสาภาคประชาชนที่กล้าแกร่ง” ในการบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ช่วยกันทำให้คนทั้งแผ่นดินได้รับรู้เรื่องราวที่ดี ทำให้ประเทศนี้เต็มไปด้วยความรักสามัคคี ความผูกพัน และที่สำคัญเกิดความหวงแหน สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้คงอยู่คู่กับแผ่นดินไทยของพวกเราทุกคนไปด้วยกันตลอดไป