การเมืองไทยหลัง 18 มิถุนา! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หากพิจารณาถึงสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันแล้ว เราจะเห็นได้ถึงสภาวะ 2 ประการ คือ “ความไม่ชัดเจน-ความไม่แน่นอน” ดังจะเห็นได้ว่า คดีที่จะมีผลกระทบทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญนั้น ถูกนำไปรวมไว้ในวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทั้งหมด

จนดูเหมือนวันที่ 18 กลายเป็นหมุดหมายสำคัญทางการเมืองไปโดยปริยาย เพราะถ้าทุกคดีถูกตัดสินในวันนั้นจริง และผลคำตัดสินออกในทางลบกับฝ่ายจำเลยทั้งหมดแล้ว … วันที่ 18 มิถุนายน จะเป็น “วันโลกาวินาศ” ของการเมืองไทยอย่างแน่นอน

เพราะคำตัดสินของศาลในทุกคดีย่อมจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อการเมืองไทยในทางหนึ่งทางใดทั้งสิ้น ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ทุกฝ่ายดูจะใจจดใจจ่อกับคำตัดสินของศาลในวันที่ 18 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วงการหมอดูการเมือง” และผลกระทบที่สำคัญในอีกส่วนคือ ผู้ที่รับผลจากคดีโดยตรง ซึ่งอาจมีนัยที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการสิ้นสุดของพรรค การสิ้นสุดของตำแหน่ง การสิ้นสุดของอิสรภาพ รวมทั้งการสิ้นสุดของกระบวนการการเลือกตั้งทางการเมือง

แต่สุดท้ายแล้ว คดีใน 3 เรื่องถูกเลื่อนออกไป เหลือความชัดเจนเพียงประการเดียวคือ การเลือกตั้ง สว. จะเดินหน้าต่อไปตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการเลื่อนเวลา “โลกาวินาศ” ของการเมืองไทยออกไปอีกระยะ ซึ่งไม่อาจคาดเดาได้เลยว่า อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต

สำนวนที่กล่าวว่า “อนาคตคือ ความไม่แน่นอน” นั้น จึงใช้ได้ดีอย่างยิ่งกับการอธิบายถึงสภาวะการเมืองไทยในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม สภาวะเช่นนี้ อาจจะยังไม่ถึงขั้นที่จะบอกว่า “การเมืองไทยไร้เสถียรภาพ” เพราะอย่างน้อย ตราบเท่าที่รัฐบาลยังรักษาฐานเสียงในรัฐสภาไว้ได้แล้ว การเมืองในระบบรัฐสภาจะยังไม่อยู่ในสถานะที่ไร้เสถียรภาพไปทั้งหมด กล่าวคือ รัฐบาลจะยังอยู่รอดได้ในสภาด้วยจำนวนคะแนนเสียง

แต่สิ่งที่เรากำลังเห็นในปัจจุบัน คือ การเมืองที่ไม่มีความชัดเจน และตอบได้ยากว่า การเมืองจะไปอย่างไรในอนาคต เพราะยังมีคดีสำคัญที่รอการตัดสินของศาล พร้อมกับมีคาดเดากันไปต่างต่างนานา และในอีกด้าน จากการที่การเมืองมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้เมื่อมองจากนักสังเกตการณ์ทางการเมืองแล้ว ไม่มีใครตอบได้ว่า รัฐบาลกรุงเทพฯ จะมีอายุยืนยาวหรือไม่ และภาวะเช่นนี้ยังมาพร้อมกับ “ข่าวลือ” เรื่องรัฐประหาร ซึ่งดูจะเป็นเรื่องของความเคยชิน เพราะเมื่อการเมืองมีความไม่แน่นอนแล้ว คำถามเรื่องรัฐประหารมักจะตามมาทันทีเสมอ

ขณะเดียวกันในภาวะเช่นนี้ ประเทศไทยในบริบทของความเป็นรัฐ กำลังเผชิญกับการรุมเร้าของปัญหารอบด้าน และไม่เห็นคำตอบที่จะบ่งบอกถึงทิศทางในการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น

– รัฐไทยกำลังตกอยู่ในวงล้อมของการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ ที่มีแนวโน้มที่เข้มข้นมากขึ้น แม้ประเด็นนี้จะไม่สิ่งที่เป็นวิกฤติ แต่ก็เห็นชัดว่า เรื่องนี้เป็นความท้าทายใหญ่ที่สำคัญต่อการจัดวางสถานะของไทยในเวทีภูมิรัฐศาสตร์โลก

– รัฐไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในตัวเอง ที่เป็นผลสะสมของการบริการเศรษฐกิจมหภาคมาจากรัฐบาลรัฐประหาร ที่สร้างปัญหาในทางเศรษฐกิจไว้อย่างมาก สำทับด้วยผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามยูเครน สงครามกาซา จึงทำให้ภาวะเศรษฐกิจไทยมีอาการถดถอย และสะท้อนชัดจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าหดหู่ในระดับภูมิภาค

– วิกฤติค่าครองชีพเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะยิ่งนับวัน ปัญหายิ่งดูจะมีความรุนแรงมากขึ้น หรือในอีกมุมหนึ่งคือ คนจนลง มีสตางค์ในกระเป๋าน้อยลง ซึ่งโดยนัยคือ คนในสังคมมีอำนาจกำลังซื้อลดลง แต่สินค้ามีราคาสูงขึ้น พร้อมกับแนวโน้มของราคาพลังงานที่ขยับตัวขึ้น โดยเฉพาะถ้าราคาน้ำมันโซลา ซึ่งเป็นพลังงานหลักของระบบขนส่งไทยขยับขึ้นตามกลไกตลาดแล้ว ราคาสินค้าจะขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย ซึ่งจะกระทบกับชีวิตของคนในวงกว้าง

– วิกฤติการบริการเศรษฐกิจไทย ที่สะท้อนผ่านความขัดแย้งระหว่าง “รัฐบาล vs. ธนาคารชาติ” นั้น เป็นอีกภาพหนึ่งของความไม่แน่นอน และความไม่ชัดเจนทางเศรษฐกิจของประเทศ จนถึงวันนี้ การประกาศจุดยืนทางเศรษฐกิจการเมืองของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในการ “ชน” กับรัฐบาลนั้น คงต้องเรียกภาวะเช่นนี้ว่า “กบฏบางขุนพรหม” ที่จะยังคงเป็นปัญหา “คาราคาซัง” ต่อไปในการบริหารเศรษฐกิจไทย

– ปัญหารัฐบาลผสม ที่สะท้อนผ่านปัญหาใน 2 ส่วนคือ 1) ปัญหาภายในของพรรคร่วม ซึ่งพรรคบางพรรคมีปัญหาความขัดแย้งช่วงชิงการนำซ่อนอยู่ และ 2) ปัญหาระหว่างพรรคร่วม ซึ่งมีทั้งบริบทของปัญหานโยบาย และปัญหาของการชิงอำนาจผ่านตัวผู้นำของพรรคคู่ขัดแย้ง ซึ่งปัญหานี้อาจจะไม่อยู่ในสภาวะวิกฤติ แต่จะเป็นปัญหาที่บั่นทอนทางการเมืองของความเป็นรัฐบาล กระนั้น ปัญหานี้ยังไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะถึงขั้นเกิดการล่มของรัฐบาลผสม ด้วยการไม่ออกเสียงในร่างงบประมาณ

– การกำเนิดของวุฒิสภาใหม่ ที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในเชิงตัวบุคคล แต่ทุกฝ่ายก็หวัง “กระบวนการเลือกไขว้” จะไม่กลายเป็นเกมส์การเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้ “สว. คสช.” อยู่ในอำนาจได้ต่อไป และน่าติดตามว่า สว. ชุดใหม่ จะเกิดขึ้นได้เมื่อใด ซึ่งก็กลายเป็นความไม่ชัดเจนในทางการเมืองอีกเรื่องหนึ่ง แม้กระบวนการเลือกตั้งจะผ่านการตัดสินของศาลมาแล้วก็ตาม

แต่ทั้งหมดนี้ดูจะเป็นคำตอบว่า การเมืองไทยหลัง 18 มิถุนายน จะยังคงเป็นการเมืองที่มีระดับของความไม่แน่นอน และไม่ชัดเจนสูงขึ้น … ไม่ใช่น้อยลงแต่อย่างใด!